ดุสิต-เซ็นทารารุกดีลร่วมทุนบริหารเสี่ยงโรงแรมแข่งเดือด
Loading

ดุสิต-เซ็นทารารุกดีลร่วมทุนบริหารเสี่ยงโรงแรมแข่งเดือด

วันที่ : 31 ธันวาคม 2562
ความเคลื่อนไหวของดีลธุรกิจท่องเที่ยวไทยตลอดปี2562 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการผนึกความร่วมมือเพื่อพัฒนา โรงแรมและโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ทั้งในไทย และต่างประเทศ บางรายตั้งเป้าหมาย เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เติมเสน่ห์และความน่าสนใจให้กับจุดหมายปลายทางนั้นๆ
          พรไพลิน จุลพันธ์

          กรุงเทพธุรกิจ

          ความเคลื่อนไหวของดีลธุรกิจท่องเที่ยวไทยตลอดปี2562 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการผนึกความร่วมมือเพื่อพัฒนา โรงแรมและโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) ทั้งในไทย และต่างประเทศ บางรายตั้งเป้าหมาย เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เติมเสน่ห์และความน่าสนใจให้กับจุดหมายปลายทางนั้นๆ

          ไฮไลต์ในช่วงต้นปี คือการเปิดตัว บิ๊กดีลโครงการ"ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" (Dusit Central Park)อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่1เม.ย.2562ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือโรงแรมใหญ่กับยักษ์ค้าปลีกในไทยกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น มูลค่ารวมกว่า 3.67 หมื่นล้านบาทบนโลเกชั่นหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนสีลม ที่ตั้งเดียวกับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ หลังได้ ประกาศความร่วมมือไปก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มี.ค. 2560

          ชูแนวคิด "Here for Bangkok"สู่เป้าหมายการเป็นโครงการมาสเตอร์พีซระดับเวิลด์คลาสที่ยังคงความเป็นไทย เติมเต็มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนในกรุงเทพฯอย่าง ครบวงจร ด้วยจุดเด่นหลายด้าน ทั้งการเชื่อมโยงการนำนวัตกรรมมาใช้ในโครงการผสานกับการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม เข้ากับรูปแบบ การใช้ชีวิตทันสมัย เปิดประสบการณ์ ใหม่ๆ ผ่านการเชื่อมต่อทุกย่านสำคัญและระบบคมนาคมทุกระนาบ บนทำเลที่ตั้งใกล้กับสวนลุมพินีซึ่งเป็นปอดของกรุงเทพฯ

          โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ประกอบด้วยการพัฒนา4อาคาร ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ กำหนดเปิดอย่างเป็นทางการ คือวันที่ 27 ก.พ.2566 ตรงกับฤกษ์เปิดประตูต้อนรับลูกค้าวันแรกเมื่อปี 2513 หรือ 50 ปีก่อน แล้วเสร็จเป็นอาคารแรก ขณะที่ เหลือจะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567 ทั้งอาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส(Central Park Offices)จำนวน49ชั้น พื้นที่ 90,000 ตร.ม. คาดเปิดให้บริการภายในไตรมาส 3 ปี 2566 พร้อมกับศูนย์การค้า เซ็นทรัล พาร์ค (Central Park)ขนาด 80,000 ตร.ม.

          นอกจากนี้ ยังมีอาคาร ที่พักอาศัย 2 แบรนด์ในอาคารเดียว คือ ดุสิต เรสซิเดนเซส (Dusit Residences)เป็นแบรนด์ระดับลักชัวรี จำนวน 159 ยูนิต และดุสิต พาร์คไซด์ (Dusit Parkside) เป็นแบรนด์แนวไลฟ์สไตล์ จำนวน 230 ยูนิต ทั้งสองแบรนด์จะเป็นที่พักอาศัยแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาว (ลีสโฮลด์) 30 ปี และต่อสัญญาอีก 30 ปี หรือสูงสุด 60 ปี ความสูงอยู่ที่ 69 ชั้น จำนวนรวม 389 ยูนิต และที่จอดรถอีก 650 ยูนิต บนพื้นที่ 80,000 ตร.ม.คาดเปิดให้บริการในต้นปี2567

          ทำให้โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เตรียมขึ้นแท่นเป็น เดอะ นิว จังก์ชั่น (The New Junction)เชื่อมย่านเก่าและย่านใหม่ 4 ย่านสำคัญจาก 4 ทิศของกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านราชประสงค์ (ทิศเหนือ) เจริญกรุง (ทิศใต้) สุขุมวิท (ทิศตะวันออก) และ เยาวราช (ทิศตะวันตก) ในฐานะ"ซูเปอร์คอร์ซีบีดี"ยกระดับสู่แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก และสามารถสู้กับคู่แข่งมิกซ์ยูสในย่านพระราม4ได้ ฟากเครือโรงแรมใหญ่ในกลุ่มเซ็นทรัล"เครือเซ็นทารา"ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ในญี่ปุ่นชื่อ"เซ็นทารา เจแปน" ประกาศดีลร่วมทุนกับพันธมิตรบริษัทก่อสร้างและอสังหาฯ 2รายในแดนอาทิตย์อุทัย ภายใต้ชื่อ "เซ็นทารา โอซาก้า สเปซิฟิค เพอร์เพอร์ส" เพื่อพัฒนาโรงแรม "เซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า" โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ขนาด 515 ห้องพัก ความสูง 34 ชั้น ภายใต้สัญญา เช่าที่ดินรวม 55 ปีใจกลางย่านนัมบะ

          ทั้งนี้ วางมูลค่าลงทุนรวม 1 หมื่นล้านบาท โดยเซ็นทารา เจแปน ถือสัดส่วนใหญ่ที่ 51% ขณะที่ อีก 49% แบ่งเป็นของไทเซอิ คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในบริษัทก่อสร้างที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุด แห่งหนึ่งของญี่ปุ่น 25.5% และคันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือคันไซ อิเลกทริค เพาเวอร์ ถือสัดส่วนที่ 23.5%

          นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญ ของเครือเซ็นทาราในการลงทุนและพัฒนาโรงแรมที่ญี่ปุ่น หลังจาก ก่อนหน้านี้ได้ศึกษาแผนการลงทุนโรงแรมในเมืองระดับ "เกตเวย์" สำคัญของโลก และโอซาก้า ถือเป็นหนึ่งในนั้น คึกคักทั้งใน มุมการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยว ระดับแม่เหล็กมากมาย โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงแรมฯได้ภายในไตรมาสที่1ปี2563เปิดให้บริการกลางปี 2566 ทันเวิลด์อีเวนต์ "เวิลด์ เอ็กซ์โป" ที่โอซาก้าเป็น เจ้าภาพจัดในปี 2568

          นอกจากโอซาก้าแล้ว เซ็นทารา เจแปน ยังสนใจพัฒนาโรงแรมในอีกหลายเมือง เช่น โตเกียว เกียวโต รวมถึงฮอกไกโดด้วย สอดรับกับแนวโน้มภาคท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มีศักยภาพและเติบโตดีจนไม่อาจ มองข้าม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทะยานจาก 7 ล้านคนเมื่อปี 2552 เป็น 31 ล้านคนเมื่อปี 2561 โดยทางการญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายไว้ชัดว่าในปี 2563 ซึ่งตรงกับการจัดโอลิมปิกไว้ที่ 40 ล้านคน และจะก้าวกระโดดเป็น 60 ล้านคนในปี 2573
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ