ปตท.เร่งเครื่อง มาบตาพุด เมินร่วมทุน อู่ตะเภา-ไฮสปีด รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่าร่วมลงทุน
Loading

ปตท.เร่งเครื่อง มาบตาพุด เมินร่วมทุน อู่ตะเภา-ไฮสปีด รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมูลค่าร่วมลงทุน

วันที่ : 23 มกราคม 2563
ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่ม ปตท.ร่วมซื้อซองประมูล 4 โครงการ แต่ยื่นซองประมูล 2 โครงการ
          ณัฐณิชา ดอนสุวรรณ กรุงเทพธุรกิจ

          ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่ม ปตท.ร่วมซื้อซองประมูล 4 โครงการ แต่ยื่นซองประมูล 2 โครงการ คือ โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 (ท่าเทียบเรือ F) และโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

          ส่วนอีก 2 โครงการ ไม่ได้ยื่นประมูล คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.เคยมีท่าทีที่จะเข้าร่วม ลงทุนหลังจากมีการลงนามสัญญาแล้ว

          ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรรมการผู้ใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เข้าร่วมลงทุน 2 โครงการ ในอีอีซี คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งปัจจุบันทางบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) ได้ลงนามกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไปเรียบร้อยแล้ว รวมถึงไม่สนใจที่จะร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

          "ก่อนหน้านี้ ปตท.มีแนวคิดว่า อาจจะ พิจารณาเข้าไปร่วมลงทุนกับผู้ชนะการประมูล ในโครงการไฮสปีดเทรนภายหลัง แต่ได้ศึกษา อย่างรอบคอบแล้วว่า ทั้ง 2 โครงการ ดังกล่าว ปตท.ไม่มีความถนัดในการ ทำเรื่องของรถไฟฟ้าและสนามบิน เพราะไม่เคยลงทุนมาก่อน"

          ดังนั้น ปตท.จะหันมามุ่งเน้นการลงทุน 2 โครงการขนาดใหญ่ในอีอีซี คือ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 (ช่วงที่ 1) ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุน กับ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ที่เป็น บริษัทในเครือ ปตท.ไปเรียบร้อยแล้ว

          หลังจากกลุ่ม ปตท.ได้จับมือกับกลุ่มกัลฟ์ฯ ซึ่งเป็นลูกค้า ปตท.และผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ เพื่อเข้าร่วมการประมูลแข่งขัน และเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว ภายใต้สัญญาร่วมทุนในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) NET Cost หรือ ร่วมทุน ระหว่างรัฐและเอกชนโดยให้เอกชนได้รับสิทธิ ในการประกอบกิจการบนพื้นที่ 200 ไร่ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง

          ขณะนี้การดำเนินโครงการมาบตาพุดเฟส 3 ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีแผนที่จะเตรียมความพร้อมดำเนินการ ถมทะเล 1,000 ไร่ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาหา ผู้รับเหมาเพื่อถมทะเล ซึ่งจะมีกระบวนการ ขออนุญาตต่างๆ ในการก่อสร้างต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา

          รวมทั้งยังต้องศึกษาขนาดโครงการ ที่เหมาะสมด้วย โดยจะต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญทั้งเรื่องของความต้องการใช้ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และปริมาณ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยด้วย คาดว่า ปีนี้ น่าจะ เริ่มดำเนินการถมทะเลได้ หากสามารถประมูล จัดหาผู้รับเหมาที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการได้

          โครงการมาบตาพุดเฟส 3 จะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ช่วยเสริมศักยภาพการจัดหาและนำเข้า LNG  เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน จากปัจจุบัน ปตท. มีคลังรับจ่าย LNG แห่งที่ 1 ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี และอีก 2 ปี คลังรับจ่าย LNG แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตันปีจะแล้วเสร็จ ทำให้ประเทศมีความสามารถรองรับ LNG ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี  และโครงการมาบตาพุดเฟส 3 จะมีรองรับ LNG ได้อีก 5-10 ล้านตันต่อปี ขึ้นอยู่กับสภาพของตลาดด้วย แต่กว่าจะแล้วเสร็จคาดว่าจะใช้เวลา 7-8 ปี

          "ถึงเวลานั้น ความต้องการใช้ก๊าซอาจจะมากขึ้น ก๊าซในอ่าวไทยอาจจะลดลง ฉะนั้น ความต้องการใช้ LNG อาจจะมากขึ้นได้ และการขยายตลาด การขยายถนน ที่เข้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้ อุตสากรรมที่เคยใช้พลังงานมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ พลังงานที่ต้นทุนอาจจะแพงกว่า ก็อาจจะหันมา ใช้ LNG นอกแนวท่อก๊าซมากขึ้นก็เป็นโอกาสของ LNG"

          ส่วนอีกโครงการสำคัญ คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้จับมือกับกลุ่มกัลฟ์ เข้าร่วมประมูล ภายใต้กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทลูกของกลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited จากประเทศจีน

          ขณะนี้ ยังรอความชัดเจนจากภาครัฐ เนื่องจากยังมีเรื่องกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดด้วย หลังจากกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี ซึ่งเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสาร ข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ โครงการนี้ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดจึงต้องรอความคืบหน้าในเรื่องนี้ต่อไป

          อย่างไรก็ตาม ปตท.ได้เตรียมความพร้อม ที่ลงทุนใน 2 โครงการดังกล่าวไว้แล้ว โดย ในส่วนของโครงการมาบตาพุดเฟส 3 ได้เตรียม งบลงทุนรองรับอยู่ภายใต้แผนลงทุน 5 ปี (2563-2567) ของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ที่มีวงเงินรวม 180,814 ล้านบาท

          ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แม้จะยังไม่บรรจุอยู่ภายใต้งบลงทุน 5 ปี แต่ ปตท.ได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 203,583 ล้านบาท รองรับไว้แล้ว

          ก่อนหน้านี้ ชาญศิลป์ เคยระบุถึง เหตุผลที่ กลุ่ม ปตท.มีความสนใจในโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เพราะมีความถนัดในการทำธุรกิจนี้ ทั้งการบริหารท่าเรือ ขนถ่ายสินค้าเหลว (ลิควิดพอร์ต) และ ท่าเทียบเรือรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว

          รวมถึงการพัฒนาแหลมฉบัง ที่จะเป็น ท่าเทียบเรือตู้ขนส่งสินค้า(คอนเทนเนอร์พอร์ต)  ซึ่งปัจจุบัน ปตท.ส่งออกส่งสินค้าในคอนเทนเนอร์พอร์ตปริมาณมาก เช่น เม็ดพลาสติก รวมถึงส่งน้ำมันป้อนเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในแถบนี้ อีกทั้งปี 2563 ได้เริ่มใช้มาตรการขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่จำกัดกำมะถันในน้ำมันเตาของเรือเดินสมุทรไม่เกิน 0.5% ก็เป็นโอกาสสำหรับกลุ่ม ปตท.
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ