ศุภาลัย ลุยลงทุนชิงดีมานด์ เจาะคนชั้นกลางต่างจังหวัด
Loading

ศุภาลัย ลุยลงทุนชิงดีมานด์ เจาะคนชั้นกลางต่างจังหวัด

วันที่ : 29 มกราคม 2563
ศุภาลัย ชี้อสังหาฯปี 63 ทรงตัว เหตุยังเผชิญปัจจัยลบ ชิงโอกาสเพิ่มน้ำหนักลงทุน หลังพบต้นทุนการเงินในการก่อสร้างต่ำที่สุดในตลาด เดินหน้าเปิดตัวโครงการถึง 30 โครงการ มูลค่า 3 หมื่นล้าน
          ศุภาลัย ชี้อสังหาฯปี 63 ทรงตัว เหตุยังเผชิญปัจจัยลบ ชิงโอกาสเพิ่มน้ำหนักลงทุน หลังพบต้นทุนการเงินในการก่อสร้างต่ำที่สุดในตลาด เดินหน้าเปิดตัวโครงการถึง 30 โครงการ มูลค่า 3 หมื่นล้าน กระจายเสี่ยงรุกต่างจังหวัด แนวราบ เจาะคนชั้นกลาง ตั้งเป้าโอนปีนี้ 2.4 หมื่นล้านบาท

          นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธาน กรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ประเมินภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า จะยังคงทรงตัว เนื่องจากปัจจัยลบยังคงเดิม โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน ยังอยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การผ่อนเกณฑ์กำกับสินเชื่ออสังหาฯ (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงมาตรการรัฐในการกระตุ้น กำลังซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จะช่วยผลักดันยอดขายได้ หากวางแผนเหมาะสมกับสถานการณ์

          โดยในปี 2563 บริษัทจะยังคงขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนทางการเงินในการก่อสร้างที่ต่ำที่สุดในตลาด และใช้ความแข็งแกร่งทางการเงิน เป็นจุดแข็ง รวมถึงการก่อสร้างในปริมาณที่คุ้มค่ากับราคา ทำให้สินค้ามีต้นทุนต่ำ และราคาแข่งขันได้ โดยจะปรับลดราคาในบางทำเล เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

          นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นการกระจาย ความเสี่ยง และเพิ่มความหลากหลาย โดยตั้งเป้าหมายยอดขาย 26,000 ล้านบาท และเป้าหมายรายได้ 24,000 ล้านบาท จากการเปิดตัวโครงการใหม่ 30 โครงการ มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท  แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 25 โครงการ และโครงการคอนโดมิเนียม 5 โครงการหากไม่นับรวมโครงการศุภาลัย ไอคอน สาทร ถือว่าเป็นอีกปีที่มีมูลค่าการเปิดโครงการมากที่สุด โดยหากนับจำนวนก็ถือว่าเปิดตัวโครงการมากที่สุด โดยปีนี้ ตั้งงบประมาณการจัดซื้อที่ดิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลงทุนต่อเนื่อง

          อีกทั้งจะพัฒนาสินค้าให้ตรงกับ ความต้องการ (Real Demand) ที่คนฐานะปานกลาง เงินเดือนต่ำสุด 20,000 กว่าบาท ต่อเดือน สามารถซื้อได้ รวมไปถึงการกระจาย ความเสี่ยงเปิดตัวโครงการในทำเลใหม่ โดยเปิดตัวโครงการในต่างจังหวัดที่ไม่เคยเข้าไปพัฒนาโครงการ โดยปัจจุบันศุภาลัยพัฒนาโครงการครอบคลุม 20 จังหวัดนอกกรุงเทพฯ ในปี2563จะขยายการเปิดตัวโครงการไปในจังหวัดใหม่ๆ ที่ยังมีความต้องการ มากและมีอัตราการเติบโต

          อาทิ พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา รวมไปถึงการขยายตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ยอดขาย (pre-sale) ในปี 2563 มาจากต่างจังหวัดสัดส่วนเพิ่มขึ้น 32% หรือ 1 ใน 3 ของยอดขายปีนี้

          อีกทั้งยังเพิ่มการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่ในปี 2563 จะเปิดตัว 25 โครงการ ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี แบ่งเป็นแนวราบในต่างจังหวัด 12 โครงการและในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 13 โครงการ โดยเน้นตลาดระดับกลาง แต่ยังมีบางโครงการที่เปิดตัวโครงการบ้านราคา 10 ล้านบาทต่อยนิต และในกรุงเทพฯ 10 ล้านบาทต่อยูนิต

          นอกจากนี้ ยังเพิ่มความพึงพอใจ ของลูกค้า (Customer Satisfaction) มีการออกแบบการบริการให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล แพลตฟอร์ม (Digital Platform)อาทิ การพัฒนาแอพพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกการบริการหลังการขายอย่างครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค มีการนำเทคโนโลยีระบบ Construction Management (CM) มาปรับใช้ภายในองค์กร โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์กลยุทธ์ธุรกิจ

          นายประทีป ยังกล่าวต่อว่า ศุภาลัยยังมีแผนกระจายความเสี่ยงโดยเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศปี 2563 เป็น 11 โครงการ จาก 10 โครงการ มูลค่าลงทุน 3,800 ล้านบาท มูลค่าโครงการรวม 25,000 ล้านบาท

          นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2563 จะโฟกัสไปที่ตลาดระดับกลาง และระดับล่าง ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการอยู่จริง โดยคอนโดมิเนียมปี 2563 จะเปิดตัว  5 โครงการ โดยระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 หมื่น บาทต่อตร.ม. หรือ 1-3 ล้านบาทต่อยูนิต มีสัดส่วน 70-80%

          "ปีที่แล้วมีความยากลำบากทำให้ตลาดอสังหาฯเปลี่ยนไป จากมาตรการแอลทีวี คอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ นักเก็งกำไรและนักลงทุน แม้ปีนี้จะยังมี ปัจจัยลบทั้งค่าเงิน กำลังซื้อต่างชาติ แต่คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้เพราะมีมาตรการกระตุ้นตลาด แม้แอลทีวีไม่ส่งผลในทางบวกมากนัก แต่การปรับเกณฑ์ก็ทำให้ ผ่อนคลายลง โดยแนวราบยังไปได้ดี ส่วนคอนโด ยังมีดีมานด์ล้นเป็นบางทำเล" โดยในปีนี้เป้าหมายการโอนกรรมสิทธิ์ปี 2563 มูลค่า 24,000 ล้านบาท โดยมาจากสต็อกคงค้างที่พร้อมโอน 10,000 ล้านบาท และมาจากโครงการเปิดใหม่อีกประมาณ 14,000 ล้านบาท ส่วนของสต็อกคงค้างในเส้นรถไฟฟ้าสายสีม่วงคาดว่าจะเร่งระบายใช้เวลา 2-3 ปี

          ทั้งนี้ สต็อกคงค้างรอรับรู้รายได้ทั้งหมดอยู่ที่ 38,655 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาโอนจบสิ้นภายในปี 2567 โดยปี 2563 จะเป็นปีที่พ้นจุดต่ำสุดจากปีที่ผ่านมา และกลับมามียอดขายที่เติบโตจากปีก่อน
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ