แบงก์แห่ลดดอกเบี้ย0.25%
Loading

แบงก์แห่ลดดอกเบี้ย0.25%

วันที่ : 7 กุมภาพันธ์ 2563
รายงานข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชนต่างปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ได้ดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1% ต่อปี
        รายงานข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชนต่างปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ได้ดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 1% ต่อปี โดยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน ทำให้ดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ และเอ็มโออาร์ เหลือ 6.495% ต่อปี โดยยืนยันจะไม่ลดดอกเบี้ยสลากออมสินทุกประเภท รวมถึงเงินฝากเผื่อเรียกสำหรับลูกค้ารายย่อย แต่จะลดดอกเบี้ยเงินฝากเพียงเฉพาะกลุ่มเงินฝากประจำ และเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษลง 0.25% มีผลวันที่ 7 ก.พ. 63
        นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ให้ลูกค้าบุคคล และเอสเอ็มอีลง 0.25% เหลือ 6.62% ส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่ปรับลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.10%-0.12% และเงินฝากประจำลง 0.05%-0.25% มีผล 6 ก.พ.63
        นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์ลง 0.25% มาอยู่ที่ 5.775%เพื่อลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยแก่ลูกค้า ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากไม่ได้ปรับลดเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่ปรับลดเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.15% - 0.25% และเงินฝากประจำลง 0.05%-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125- 0.250% ต่อปี มีผล 7 ก.พ.นี้ เพื่อลดภาระให้กับลูกค้าประชาชน และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยดอกเบี้ยใหม่ คือ เอ็มแอลอาร์ เหลือ 5.875% ต่อปี เอ็มอาร์อาร์ เหลือ 6.375% ต่อปี และเอ็มโออาร์ เหลือ 6.5% ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดในตลาด
        นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยืนยันพร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด และต้องมี การประสานความร่วมมือ ทั้งภาคการคลัง การเงิน และสถาบันการเงิน โดยได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงธนาคารพาณิชย์ให้ช่วยดูแลลูกหนี้โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และดูแลลูกหนี้ที่เป็นลูกจ้างด้วย ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุก
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ