คาด โคโรนา ฉุดจีนโอนคอนโดครึ่งปีวูบ50%กดตลาด ติดลบ
Loading

คาด โคโรนา ฉุดจีนโอนคอนโดครึ่งปีวูบ50%กดตลาด ติดลบ

วันที่ : 14 กุมภาพันธ์ 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินไวรัสโคโรนาฉุดจีนโอนคอนโดวูบ 50%
        0.2% ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ชี้ดีเวลลอปเปอร์หลบภัยหันรุกแนวราบ

        ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินไวรัสโคโรนาฉุดจีนโอนคอนโดวูบ 50% ครึ่งปีแรก กดยอดโอนกรรมสิทธิ์ อสังหาฯปี63 ยังติดลบ 0.2% หวังสถานการณ์ครึ่งปีหลังฟื้นหนุนตลาด ขณะยอดเปิดตัวโครงการใหม่ไม่เพิ่ม ดีเวลลอปเปอร์ถอยลงทุนคอนโด รุกแนวราบ

        นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ทิศทาง ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2563 ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ เป็นจำนวนหน่วยจะติดลบ 0.2% มีจำนวน 372,503 หน่วย หรือใกล้เคียงกับปี 2562 คิดเป็น มูลค่าติดลบ 2.5% หรือ 853,179 ล้านบาท

        โดยสาเหตุที่ประเมินว่ายังคงติดลบ แม้จะ มีปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล การผ่อนเกณฑ์ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ทิศทางอสังหาฯเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ส่งผลทำให้ยอดการโอนฯอสังหาฯของคนจีน ได้รับผลกระทบ 50% ในครึ่งปีแรกของ ปี 2563 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 7,000 ล้านบาท จากค่าเฉลี่ยยอดโอนฯอสังหาฯของคนจีน 29,000 ล้านบาทต่อปี "จากการหารือเพื่อประเมินสถานการณ์กับสภาพัฒน์ฯ ได้ปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) จาก 2.8 % เหลือ 2.5% ทำให้ ศูนย์ข้อมูลประเมินว่าผลกระทบในครึ่งปีแรก จะทำให้การโอนหายไป 1ใน4ส่วนของยอดโอน คนจีนทั้งปี โดยคนจีนโอนอสังหาฯไทยคิดเป็น 6% ของยอดโอนทั้งประเทศ"

        อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า สถานการณ์ในครึ่งปีหลังจะกลับมาฟื้นตัว โดยจีนสามารถจัดการกับปัญหาการระบาดของโคโรนาทำให้ตลาดจีนกลับมาฟื้นตัวทำให้สมมติฐานที่ดีที่สุด (Best Case) ตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 จะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว เศรษฐกิจและการจ้างงานดีขึ้นส่งผลทำให้เกิดความมั่นใจของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ที่มีโอกาส ที่จะขยายตัวได้สูงถึง 5-7%

        ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ยังระบุว่า สำหรับมีสินค้าพร้อมขาย (สต็อก) สิ้นปี 2562 รวมจำนวน 258,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1.37 ล้านล้านบาท ซึ่งหากยังคงมีมาตรการกระตุ้น ตลาดอสังหาฯ และการผ่อนเกณฑ์ LTV รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นขาลง จะส่งผล ทำให้ลดปริมาณสต็อกลงจนสิ้นปี 2563 มีจำนวนสต็อกเหลืออยู่ที่ 218,000 หน่วย คิดเป็น มูลค่า 9.7 แสนล้านบาท

        ขณะที่ แนวโน้มการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทั้งประเทศเริ่มสะท้อนว่า นักพัฒนาอสังหาฯเริ่มลดสัดส่วนการของการพัฒนาอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) ลดลง โดยการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ทั่วประเทศในปี2562 มี ทั้งสิ้น 292,167 หน่วย แบ่งเป็นสัดส่วนแนวราบ 72.6% อาคารชุด สัดส่วน 27.4% ลดลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการขออนุญาต 360,883 หน่วย สัดส่วน แนวราบ 58.6% และอาคารชุด 42.4% คาดว่า ในปี 2563 จะมีสัดส่วนแนวราบใกล้เคียงกันกับ ปีก่อน โดยสัดส่วนอาคารชุดอยู่ที่ 27.4% เป็นผล มาจากการปรับตัวของนักพัฒนาอสังหาฯ

        เขายังกล่าวถึง สถานการณ์ตลาดอสังหาฯ ในปี 2562  หลังจากที่รัฐบาลได้ออก 3 มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ อสังหาฯ ทำให้ตลาดอสังหาฯในปี 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561  โดยมียอดจำนวนหน่วยโอนฯ 373,365 หน่วย เพิ่มขึ้น 2.7% เทียบกับปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 875,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากเดิมที่คาดว่าจะจำนวนจะติดลบ 8.4% และ มูลค่าติดลบ 8.2%

        ด้านนายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ศูนย์ข้อมูลฯ จัดทำแผน ยุทธศาสตร์บทบาทศูนย์ข้อมูลใหม่ 5 ปีข้างหน้า เป็น "ศูนย์อสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ" (NRCNational Real estate Center) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องมีกระบวนการทำงานเชิงรุก (Pro-active) และ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

        1.ระดับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงนโยบายมีการนำเสนอข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนและการตัดสินใจในเชิงนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยทุกคนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและยั่งยืน 

        2.สนับสนุนการออกมาตรการและนโยบายทางการเงินและการคลัง เพื่อส่งเสริมให้คนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มบ้านสำหรับ ผู้มีรายได้น้อย

        3.สนับสนุนให้เกิดการ กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนที่ต้องการซื้อ ที่อยู่อาศัยในทุกระดับ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อน เศรษฐกิจภาคอสังหาฯ และภาพรวมเศรษฐกิจ ของประเทศให้มีการขยายตัวได้อย่างเหมาะสม "ยกระดับบทบาทที่ไม่ใช่เพียงให้ข้อมูล แต่จะต้องใช้ข้อมูลเชื่อมโยงจากหลากหลายด้าน (Big Data) เพื่อนำมาวิเคราะห์อสังหาฯ ให้กับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่การมีส่วนในการ กำหนดนโยบายการพัฒนา ช่วยให้นักพัฒนา อสังหาฯได้วางแผนการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งทำเลและราคา รวมถึงช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้ข้อมูลตัดสินใจและเข้าถึงการซื้อขายอสังหาได้ตามความต้องการ"