ธุรกิจรับมือ ชัตดาวน์กรุงเทพ ตั้งออฟฟิศสำรองต่างจังหวัด
Loading

ธุรกิจรับมือ ชัตดาวน์กรุงเทพ ตั้งออฟฟิศสำรองต่างจังหวัด

วันที่ : 16 มีนาคม 2563
แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP (business continuity planning)
          ชัตดาวน์กรุงเทพ

          จากสถานการณ์ของไวรัส โควิด-19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ บรรดาภาคธุรกิจใหญ่ต่าง ๆ ทั้งภาค การเงิน โทรคมนาคม พลังงาน รวมถึง ผู้ผลิตรถยนต์ ได้เตรียมแผนความ ต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ BCP (business continuity planning) ไม่ให้การดำเนินงานหยุดชะงัก ในกรณีที่รัฐบาลประกาศการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เฟส 3 หรือมีการปิดพื้นที่บางส่วนในกรุงเทพฯ

          สำหรับ "ระบบการเงิน" ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่สามารถหยุดชะงักได้ นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการ อาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความ เสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธปท.มีการเตรียม แผน BCP โดยหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรณีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้ระบบ การเงินต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยต้องพิจารณาว่า ระบบใด ที่มีความสำคัญและไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ เช่น ระบบไอที เป็นต้น ก็จะมีการตั้งศูนย์สำรองไว้รองรับ เพื่อไม่ให้งานสะดุดหรือหยุด

          นอกจากนี้ ธปท.ได้สื่อสารและติดตามสถานการณ์กับธนาคารพาณิชย์ อย่างใกล้ชิด ซึ่งธนาคารมีการเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งการย้ายพนักงานที่มีความสำคัญ และให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้  กรณีมีปัญหาจะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที

          SCB แยกทีมไปอยู่ "พัทยา"

          นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้ธนาคารได้แยกพนักงานจำนวนหนึ่งที่รับผิดชอบ งานสำคัญที่ไม่สามารถหยุดได้ เช่น ฝ่ายระบบไอที และห้องค้าเงิน เป็นต้น ไปทำงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติงานสำรองที่เตรียมไว้ 2 แห่ง คือศูนย์แจ้งวัฒนะและศูนย์ฝึกอบรมหาดตะวันรอน พัทยาโดยเบื้องต้นได้ให้ไปทำงานที่ศูนย์แจ้งวัฒนะก่อนอันดับแรก เพื่อป้องกัน ไม่ให้กลุ่มนี้เสี่ยงติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 และหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น จะกระจายพนักงานเหล่านี้ไปทำงานที่ศูนย์ฝิกอบรมที่เตรียมไว้ต่อไป และบางส่วนพนักงานก็สามารถทำงานได้จากที่บ้าน

          "เรามีศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง 2 แห่ง แจ้งวัฒนะและตะวันรอน พัทยา ซึ่งตอนนี้ให้พนักงานที่เป็นหน่วยงานสำคัญ ๆ ไป ทำงานที่แจ้งวัฒนะแล้ว โดยไม่ต้องรอสถานการณ์รุนแรง แต่หากเหตุการณ์เริ่มมีปิดพื้นที่บางส่วน เราจะกระจายไปที่ตะวันรอนต่อไป" เคแบงก์ตั้งศูนย์สำรองบางปะกง

          ขณะที่ "ธนาคารกสิกรไทย"รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ก็เริ่มแบ่งทีมทำงาน โดยให้แยกสถานที่ทำงานกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีเกิดปัญหาขึ้นในสถานที่ใด อีกสถานที่ก็สามารถดำเนินงานต่อได้เพื่อให้งานทุกอย่างไม่สะดุด สำหรับกรณีรุนแรงถึงขั้นปิดเมือง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ  ก็มีแผนให้พนักงานทำงานที่บ้านเหมือนครั้งชุมนุมการเมือง ซึ่งในส่วนของเคแบงก์มีสำนักงานใหญ่หลายแห่ง ทั้งสำนักงานสีลม เสือป่า และศูนย์การเรียนรู้ที่บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถใช้เป็นออฟฟิศสำรองได้ เช่นเดียวกับระบบงานไอทีแบงก์ก็มีศูนย์สำรองอยู่แล้ว

          สำหรับแหล่งข่าวธนาคารทีเอ็มบี- ธนาคารธนชาตเปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้แยกพนักงานที่อยู่ในหน่วยงาน สำคัญเป็น 2 ส่วนโดยแบ่งให้กลุ่มหนึ่ง ทำงานที่บ้าน และอีกกลุ่มทำงานใน สถานที่จัดเตรียมไว้ สำหรับศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง กลุ่มธนาคารมีศูนย์ใน ต่างจังหวัดค่อนข้างมากจึงไม่มีปัญหา เหลือเพียงแค่เตรียมระบบในการทำงานเท่านั้น

          เช่นเดียวกับ นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท (SAM) กล่าวว่า บริษัทได้มีการ ซักซ้อมแผน BCP เป็นประจำทุกปี และมีการปรับเปลี่ยนแผนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้มีการ ซ้อมย่อยโดยแบ่งทีมความรับผิดชอบ การทำงาน ทั้งส่วนของคนที่ดูแลระบบ หน่วยงานหลัก และทีมทำงานจาก ที่บ้านซึ่งเมื่อถึงเวลาก็รับผิดชอบ ได้ทันที รวมถึงมีการพูดคุยกับธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมศูนย์ปฏิบัติ งานสำรองไว้รองรับ 2 แห่งได้แก่ สาทรและศรีนครินทร์ ซึ่งสามารถรองรับและปฏิบัติงานได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

          BLA รับมือชัตดาวน์กรุงเทพฯ

          ด้าน ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมแผน BCP หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ระยะที่ 3 หรือมีการชัตดาวน์กรุงเทพฯเพื่อให้ธุรกิจไม่หยุดชะงัก บริษัทได้เตรียมศูนย์สำรองการทำงาน 2 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดชลบุรี เพื่อให้พนักงานเข้าทำงานในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงเตรียมพร้อมระบบและอุปกรณ์ให้พนักงาน 200 คน ให้สามารถทำงานที่บ้าน ตลอดจนเตรียมเครื่องมือให้ตัวแทน ประกันในการทำงานได้โดยไม่ต้องออก จากบ้านหรือไปพบลูกค้า เช่นการส่งผ่าน กรมธรรม์ผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นต้น

          "หากเกิดซูเปอร์สเปรดเดอร์ และต้อง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ เราก็ต้องมีแผนเตรียม พร้อมไว้ หลัก ๆ จะต้องดูว่าชัตดาวน์ที่ไหน แต่เรามีสาขาทั่วประเทศไว้รองรับอยู่แล้ว ตอนนี้เบื้องต้นยกเลิกการประชุมหรืองานที่มีการรวมตัวของคนจำนวนเยอะ ๆ เปลี่ยนวิธีการพบลูกค้าแบบเผชิญหน้าก็ให้โทรศัพท์แทน" ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

          ขณะที่ นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย กล่าวว่า บริษัทมีแผน BCP ไว้รับมือ โดยในกรณีจำเป็นต้องหยุดการดำเนินธุรกิจในบางพื้นที่ บริษัทได้เตรียมเครื่องมือในการทำงานให้กับพนักงานและตัวแทน รวมถึงมีการแบ่งทีมงานที่สามารถทำงานที่บ้าน หรือพื้นที่สาขาใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

          ไทยประกันเปิด 2 ออฟฟิศสำรอง

          นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต  กล่าวว่า บริษัทได้บรรจุมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในแผนบริหารความเสี่ยงขององค์กร และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับแผนรองรับให้การดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็น core business อาทิ พิจารณารับประกัน พิจารณาสินไหม บริการผู้เอาประกัน และไอที ซึ่งต้องแบ่งทีมไปยังที่ทำการสำรอง คือสาขารัตนาธิเบศร์ และบางส่วน ทำงานจากที่พัก หากเกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพฯ บริษัทก็มีออฟฟิศสำรองอีก 1 แห่ง คือสาขาพัทยา

          รวมถึง "แผนการรับมือ" กรณีพบ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในบริษัท จะดำเนินการอพยพในกรณีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน การกักตัวของบุคลากรและผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด  พร้อมทำความสะอาดสถานที่โดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในภายนอกบริษัท

          ออมสิน-ธอส.เตรียมพร้อม

          นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า สำหรับแผนการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 กรณีเลวร้ายที่สุด หากการแพร่ระบาดส่งผลกระทบถึงขั้นปิดพื้นที่ ธนาคารได้เตรียม และซักซ้อมแผนธุรกิจต่อเนื่อง (BCP) ไว้พร้อมแล้ว  โดยจะใช้การบริหารจัดการ ด้วยระบบไอที  ซึ่งออมสินมีศูนย์ คอมพิวเตอร์อยู่ 3-4 แห่งโดยอยู่ที่สำนักงานใหญ่พหลโยธิน ที่ศูนย์พิบูลสงคราม และศูนย์สาทร กรณีเกิดโรคระบาดรุนแรงจำเป็นต้องดูแลคนในศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้บริการของธนาคาร 86% ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมีเพียง 14% ที่ยังเป็นระบบปกติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด

          "เรามีการซักซ้อมแผน BCP ที่เป็น การดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นกรณีเกิดการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือดอกเบี้ยลดกะทันหันมาแล้ว แต่กรณีเกิดวิกฤตโรคระบาดยังไม่เคยซักซ้อม แต่ปัจจุบันได้เตรียมระบบและอยู่หว่างการประชุมคณะทำงานเพื่อซักซ้อมตามแผนเมื่อเกิดเหตุขั้นเลวร้ายดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามแผนได้ทันที"

          ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุว่า ธอส.มีการแบ่งทีมงานเป็น 2 ทีม เพื่อบริหารความเสี่ยง รวมทั้งได้จัดสรรสถานที่ให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ลูกค้าที่มาใช้บริการขอสินเชื่อจะไปติดต่อคนละอาคารกับลูกค้าที่เข้ามาขอประนอมหนี้ เพื่อที่จะลดความแออัด เป็นต้น

          ส่วนกรณีหากเกิดการชัตดาวน์กรุงเทพฯเนื่องจากการแพร่เชื้อรุนแรงขึ้น ธอส.ก็ได้เตรียมพื้นที่สาขาแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี เป็นที่รองรับการดำเนินงาน และให้บริการลูกค้า หรือกรณีมีสาขาในต่างจังหวัดบางแห่งเกิดปัญหาขึ้น ธอส.ก็มีสาขาบัดดี้ที่อยู่ละแวกใกล้เคียงกันเตรียมไว้รองรับ

          "บีกริม เพาเวอร์" ตั้งวอร์รูม

          นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทจัดทำแผน BCP หากรัฐบาล ประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 มั่นใจว่าการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจะไม่สะดุด โดยได้ตั้ง คณะทำงานวอร์รูมขึ้นมา โดยมีตนเป็นประธานร่วมกับตัวแทนฝ่าย HR, ฝ่าย IT และกรรมการผู้จัดการของโรงไฟฟ้าทุกโรง เบื้องต้นได้กำหนดให้จัดกลุ่มการทำงานเป็น 2 ทีม โดยทีมใดที่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในโรงไฟฟ้าก็ต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยเป็นพิเศษ ส่วนทีมที่สามารถ ทำงานที่บ้านได้ ทางฝ่าย IT ต้องเตรียม ระบบสนับสนุนให้พร้อม อีกทั้งได้จัดหาออฟฟิศสำรอง

          ในส่วนของออฟฟิศสำนักงานใหญ่ได้ประสานไปที่โรงแรมโฟร์วิงส์ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียง ส่วนโรงไฟฟ้าทุกไซต์ก็จะกำหนดออฟฟิศสำรองเช่นกัน เพราะหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต้องสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรไปทันที และป้องกันไม่ให้ การผลิตไฟฟ้าทุกโรงงานสะดุด ทั้งได้ประสานกับทางกรมควบคุมโรค หากพบผู้ป่วยจะต้องสามารถส่งตัวไปรักษาได้ทันที

          AIS แบ่งทีมใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม

          นางสาววราลี จิรชัยศรี หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส)  เปิดเผยว่า บริษัทเพิ่มมาตรการเข้มขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานทุกส่วน และการให้บริการลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก ทั้งแบ่ง ทีมพนักงานที่ทำงานแทนกันได้ เตรียม พื้นที่ทำงานทดแทนกรณีต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานชั่วคราว รวมถึงนำ digital platform มาประยุกต์ใช้ให้การทำงาน ไม่หยุดชะงัก เช่น สัมภาษณ์พนักงานใหม่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระบบ remote access หรือ work from home อย่างทีมวิศวกรที่ต้องดูแล ระบบ มีการแบ่งทีมกันไปอยู่ในจุดต่าง ๆ ที่สามารถดูแลระบบต่าง ๆ ได้สะดวกและทั่วถึง ลักษณะเดียวกับครั้งน้ำท่วมใหญ่

          แหล่งข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างวางแผน BCP โดยจะแบ่งทีมงานรับผิดชอบแต่ละส่วนให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดที่รัฐบาลประกาศ

          หลัก ๆ คือแบ่งทีมว่าใครต้องทำงาน ที่ไหน อย่างไร ส่วนการเปิด-ปิดศูนย์ บริการลูกค้าจะยึดนโยบายห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ส่วนเจดี เซ็นทรัล ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ JD.co.th เน้นมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด เนื่องจากมีส่วนงานที่ต้องบริการขนส่งสินค้าให้ลูกค้า ต้องเดินทางไปในพื้นที่สาธารณะตลอดเวลา

          "โตโยต้า" ทิ้งตึกออลซีซั่นส์

          นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงผล กระทบหลังจากเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น Ohana Poke ในตึกออลซีซั่นส์ติดเชื้อโควิด-19 โตโยต้าได้ทำการอพยพพนักงานทั้งหมดบนตึกออลซีซั่นส์ตั้งแต่ชั้น 41-43 กลับไปยังออฟฟิศใหญ่ที่สำโรง และศูนย์ฝิกอบรม TOYOTA Driving Experience Park ที่บางนา จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลาย โดยในช่วงแรกให้พนักงานหยุดทำงานที่บ้านก่อน เพื่อปรับปรุงสถานที่ หน่วยงานที่ต้องประสานงานกับโรงงาน, ดีลเลอร์ และซัพพลายเออร์ ให้ประจำที่สำนักงานใหญ่สำโรง เนื่อง จากต้องเกี่ยวข้องกับระบบไอที แบ็ก ออฟฟิศ  ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ฝ่ายพี.อาร์. ให้ไปใช้สถานที่ศูนย์ฝิกอบรม

          ก่อนหน้านี้โตโยต้าได้มีคำสั่งห้ามเดินทางต่างประเทศ หากจำเป็นโดยเฉพาะประเทศเสี่ยง ให้ดำเนินการตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด พร้อมเลื่อนหรือยกเลิกการจัดกิจกรรมทั้งหมด  และเพื่อลดความเสี่ยงของลูกค้า กิจกรรมการตลาดให้ผ่านช่องทางออนไลน์

          เช่นเดียวกับนายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า  ได้ส่งหนังสือถึงพนักงานและผู้จำหน่ายทุกรายให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

          ลูกค้าใหม่ที่ต้องการทดลองขับรถยนต์  มีบริการนำรถไปให้ทดลองขับถึงที่บ้าน  นอกจากนี้ลูกค้า 200 รายแรกที่นัดเข้ารับบริการภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จะสามารถใช้บริการรับรถจากบ้านไปยังศูนย์บริการ และส่งรถจากศูนย์บริการ กลับไปที่บ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ