อสังหาฯรายกลาง กันเงินสำรองใช้ฉุกเฉิน ลดขนาดธุรกิจ
Loading

อสังหาฯขอ ซอฟท์โลน อุ้มรายเล็กพยุงฐานะก่อนฉุด ซัพพลายเชน

วันที่ : 18 มีนาคม 2563
อสังหาฯรายกลาง กันเงินสำรองใช้ฉุกเฉิน ลดขนาดธุรกิจ
      
         พิษโควิด-19 ฉุดยอดขาย อสังหาฯวูบ นักอสังหาฯระบุรายกลางรายเล็ก บางรายเริ่มขาดสภาพคล่อง จี้รัฐตั้งกองทุนซอฟท์โลน ประคองธุรกิจรอตลาดฟื้น ก่อนกระทบซัพพลายเชน "วิลล่า คุณาลัย" กันเงินสำรองใช้ฉุกเฉิน "ธนาแลนด์" ลดไซส์-ลดต้นทุน

          นายชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารฮาบิแทท กรุ๊ป กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้ยอดขายลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดต่างชาติ ที่เดินทางมาซื้ออสังหาฯในไทย จากปี 2562 ลดลงจากปีก่อนหน้า(2561)ประมาณ 50% ในขณะที่ปี 2563 ประเมินว่า ลูกค้าต่างชาติหายไปอีกมากกว่าครึ่งเหลือประมาณ 20%

          เขายังกล่าวว่า ยอดขายที่ปรับตัว ลดลง ย่อมกระทบต่อสภาพคล่อง ทำให้ภาคอสังหาฯบางส่วนเริ่มหันไปพึ่งพา เงินกู้นอกระบบ เพื่อมาหาบริหารสภาพคล่อง ขณะที่สถาบันการเงินคุมเข้มปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ (แอลทีวี)ตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

          ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเห็นว่า ภาครัฐควรเข้ามาสนับสนุนภาคอสังหาฯ ด้วยการจัดตั้ง "กองทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ" (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยบริหารสภาพคล่อง ประคองธุรกิจในช่วง 6 เดือน - 1 ปี ก่อนสถานการณ์จะกลับมาฟื้นตัว  เนื่องจากธุรกิจอสังหาฯเป็นต้นทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งระบบ ที่จะมีซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น ภาคก่อสร้าง และการจ้างงาน รวมถึงวัสดุก่อสร้าง เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี

          "นักพัฒนาอสังหาฯ รายกลางและเล็กที่มีปัญหาสภาพคล่อง หากมีกองทุนฯหลักร้อย หรือ หลักพันล้านบาท จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ เหมือนเป็นไม้เท้ามาช่วยพยุงช่วงรอการฟื้นตัว ไม่ล้ม เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบ เป็นลูกโซ่ไปยังซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง"

          นายรอยบุญ เลาหะวิไลย ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอเชียอินเตอร์เฮาส์ จำกัด และอนุกรรมการสมาคมอาคารชุดไทยยอมรับว่า ภาคอสังหาฯอยู่ในปีที่เจอวิกฤติรุนแรง ตลาดปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวแล้ว ยังเจอกับมาตรการแอลทีวี ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะนักพัฒนาอสังหาฯ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง

          "หลังจากโควิด-19 ลูกค้าไม่กล้ามาโครงการ กลายเป็นปัญหากับรายกลางและเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอเท่ากับรายใหญ่ ที่หากแบกภาระในช่วงนี้ไปอีก 3-6เดือนค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะธนาคาร ค่อนข้างระวังการปล่อยสินเชื่อให้นักพัฒนารายใหม่ และรายเก่า ขนาดกลางและขนาดเล็ก หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยมีโอกาสล้ม เพราะมีหลายรายบริหารสภาพคล่องลำบากตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา"

          นายณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมยอดขายที่ลดลง แต่ละบริษัทจะประสบปัญหาสภาพคล่องหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสายป่านทางการเงินของแต่ละบริษัท และการวางแผนธุรกิจ บริหารสภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา โดยในส่วนของบริษัท ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เนื่องจากมีธุรกิจหลากหลายช่วยลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

          "ตอนนี้กำลังซื้อและอารมณ์ซื้อของคนหายไป จากเดิมเคยขายได้เดือนละ 10 หลัง อาจลดลงเหนือแค่3-5หลังยอดขายลดลง กำไรลดลงแต่ไม่ถึงขั้นขาดทุนไม่มีกำไร ภาพรวมตลาดทั้งยอดโอน ยอดขาย และการเปิดตัวโครงการชะลอ"

          นางประวีรัตน์ เทวอักษร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วิลล่า คุณาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ได้รับผลกระทบหนักโดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียม เพราะกำลังซื้อลูกค้าหายไป ส่วนบ้านจัดสรร กลุ่มลูกค้าที่เป็นเรียลดีมานด์ โดยเฉพาะราคา 2-5 ล้านบาทได้รับผลกระทบไม่มาก แต่ในสถานการณ์แบบนี้ประมาทไม่ได้ แนวทางการปรับตัว ของบริษัทเริ่มจากการเตรียมกระแสเงินสด เพื่อรองรับการทำโครงการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย

          โดยตัดประมาณการในส่วนของเงินที่เหลือออก ในรูปแบบการทำแผนรับมือกับเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุด(Worst case) เพื่อความปลอดภัย ทำให้งานสร้างไม่สะดุด โดยเงินส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินของบริษัทที่เก็บไว้ และเตรียมเงิน ในส่วนต่างๆเก็บไว้ใช้ในการก่อสร้าง ขณะที่เงินในส่วนที่เป็นกำไรจะกันเอาไว้เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ให้สามารถอยู่รอดได้อย่างน้อย1 ปี

          นายโกวิทย์ สุวาณิชย์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาแลนด์ จำกัด กล่าวว่า จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ปรับตัวได้ง่ายกว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากไม่มีแรงกดดัน ในการทำยอดขาย หรือรายได้จากผู้ถือหุ้น สำหรับแนวทางการรับมือคือการลดขนาดโครงการเล็กลง ทำคอนโดโลว์ไรส์ และประเมินสถานการณ์เป็นระยะ

          โดยคาดว่า น่าจะเริ่มทำตลาดได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์ในจีน เกาหลีใต้ เริ่มควบคุมได้แล้ว เศรษฐกิจทั้ง2 ประเทศจะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังต้องลุ้นดูสถานการณ์สหรัฐ ยุโรป รวมทั้งในประเทศไทยที่ดูจะรุนแรงขึ้นว่าจะคลี่คลายลงหรือไม่ หากสถานการณ์ ไม่ดีขึ้นอาจลากยาวไปเป็นไตรมาส 4

          นักพัฒนาอสังหาฯ รายกลางและเล็กที่มีปัญหาสภาพคล่อง หากมีกองทุนฯหลักร้อย หรือ หลักพันล้านบาท จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ เหมือนเป็นไม้เท้ามาช่วยพยุง ไม่ส่งผลกระทบลูกโซ่ไปยังซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ