เทอร์ร่าฯชี้อสังหาฯสายป่านสั้น ควบรวม-ขายสินทรัพย์ ดิ้นรอด
Loading

เทอร์ร่าฯชี้อสังหาฯสายป่านสั้น ควบรวม-ขายสินทรัพย์ ดิ้นรอด

วันที่ : 3 เมษายน 2563
เทอร์ร่า บีเคเค เผยภาพรวมอสังหาฯ ไตรมาส 2 ยอดขายลดลง 50%
           "เทอร์ร่า บีเคเค" เผยข้อมูลภาพรวมอสังหาฯระบุไตรมาส 2 ยอดขายลด 50% เตือนดีเวลลอปเปอร์ สายป่านสั้น เร่งบริหารกระแสเงินสด คาดเห็นการควบรวม ตัดขายสินทรัพย์ ขณะสายป่านยาว แนะกระจายเสี่ยง เลือกลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีโอกาส

          นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือเทอร์ร่า บีเคเค ผู้ให้บริการมาร์เก็ต เพลส และ คอนเทนท์อสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ TerraByte ภาพรวมการเปิดตัวโครงการใหม่ใน ไตรมาสแรกปีนี้ มีจำนวนยูนิตรวม 19,000 ยูนิต ส่วนไตรมาส 2 ปีนี้คาดว่า จะลดลงเหลือ 9,500 ยูนิตลดลง 50% ขณะที่สินค้าที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาด (Inventory) ในเดือนก.พ. มีจำนวน 55,000 ยูนิต แบ่งออกเป็นแนวราบ 25,000 ยูนิต คอนโดมิเนียม 30,000 ยูนิต

          จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อน ให้เห็นว่า ขณะนี้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ชะลอการซื้อและออมเงินเพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจ จะดีขึ้น หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจยังแย่ประกอบกับไม่มีเงินอัดฉีดในระบบ อาจจะส่งผลกระทบต่อ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมาอาจเกิดการเลย์ออฟพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจยังคงประคองตัว อยู่รอดไปถึงปีหน้า สำหรับผู้ประกอบการ ที่สายป่านสั้น คาดว่าจะสามารถอยู่ได้ ไม่เกิน 10 เดือน ฉะนั้นต้องปรับแผนโดยอาจจะ ควบรวมกิจการหรือตัดขายสินทรัพย์ ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด

          นางสาวสุมิตรา ยังประเมินว่า แนวโน้ม ภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯในไตรมาส 2 ประมาณการยอดขายจะลดลง 50%จากไตรมาสแรก ที่ลดลง 30% เป็นผลมาจาก วิกฤติโควิด-19 ที่กระทบต่อกำลังซื้อรวมทั้งข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

          ดังนั้นแม้ที่ผ่านมาหัวใจสำคัญ ในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะให้ ความสำคัญกับวลีที่ว่า "Location is the King" แต่ในช่วงที่วิกฤติแบบนี้ ต้องเปลี่ยนมาเป็น "Cash is the King" เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้  โดยแนวทางการปรับตัวในภาวะการณ์ เช่นนี้ มีหลายวิธีที่ผู้ประกอบการจะ นำมาใช้ อาทิ การออกหุ้นกู้ ปรับขนาดองค์กรใหม่ ตัดหน่วยธุรกิจ ลดกำลังคน ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไปก่อน ลดราคาขาย เพื่อระบายสต็อกสร้างกระแสเงินสด ขายที่ดินหรือขายโครงการทิ้งเพื่อลด ภาระหนี้สิน ควบรวมกิจการซึ่งจะสามารถช่วยได้ทั้งแหล่งเงินทุนและกำลังคน หรือเสนอขายสินค้าให้กับกลุ่มซัพพลายเออร์ แบบการันตีผลตอบแทน

          "สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบริหารกระแสเงินสด สังเกตได้จากช่วงนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เร่งออกตราสารหนี้ ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่นอกตลาดก็ขอลดดอกเบี้ย, แบ่งเฟสการพัฒนาโครงการให้จำนวนยูนิตน้อยลง และเริ่มลดราคาขาย ลงมา เพื่อต้องการระบายยูนิตที่สร้าง เสร็จแล้ว ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล ทั้งดำเนินการเองหรือใช้บริการ Real estate tech startups มากขึ้น และไม่รับคนเพิ่ม"

          นางสาวสุมิตรา กล่าวว่า ปัจจุบันในต่างประเทศมีประเมินว่า สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายเร็วสุดในเดือนส.ค.ปีนี้ และกรณีเลวร้ายที่สุดจะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.ปีหน้า ดังนั้นไตรมาส 2 ปีนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และพร้อมรับสถานการณ์ ที่อาจจะ ลากยาวไปต่อถึงเดือนธ.ค.ปีหน้า เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression ) สำหรับผู้ประกอบการที่มีสายป่านยาว ควรเลือกไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสและศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น กลุ่มพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร, กลุ่มเวชภัณฑ์ อนามัย, กลุ่มประกันภัย ทั้งประกันชีวิต สุขภาพและวินาศภัย กลุ่มโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จาก โควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้ได้ในราคาที่เหมาะสม กับกำลังซื้อที่แท้จริงของลูกค้า และตอบสนอง ความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น  พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการขายผ่าน สื่อออนไลน์ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับ กลุ่มเป้าหมาย หากสถานการณ์คลี่คลายออกบูธ หรือจัดโรดโชว์ตามบริษัท โรงงาน แทนที่จะขายในห้างสรรพสินค้า เพียงอย่างเดียว

          การดำเนินธุรกิจให้ความสำคัญกับวลี "Location is the King" แต่วิกฤตินี้ต้องเปลี่ยนมาเป็น"Cash is the King"
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ