เตือนนักอสังหาฯอย่าฝืนตลาด ทุ่มเงินอัดแคมเปญช่วงศก.ทรุด
Loading

เตือนนักอสังหาฯอย่าฝืนตลาด ทุ่มเงินอัดแคมเปญช่วงศก.ทรุด

วันที่ : 13 เมษายน 2563
ดีเวลล็อปเปอร์ เตือน บริษัท อสังหาฯอย่าฝืนตลาด - ระบุต้องจัดการปัญหาหลายมิติ
          "นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าธุรกิจอสังหาฯ ในช่วงที่ผ่านมาผ่านมรสุมมาหลายลูก แต่ต้องยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นสึนามิที่ไม่ธรรมดาเนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ลุกลามไปทั่วโลก ต่างจากวิกฤติปี 40 หรือ วิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ประเทศในโซนเอเชียเจ๊ง แต่บางประเทศยังแข็งแรง แต่วิกฤติครั้งนี้ลามไปทั่วโลก

          "ตอนนี้เหมือนโดน 2 เด้งทั้งผลกระทบ จากโควิด-19 และเศรษฐกิจมาซ้ำเติม อสังหาฯ และธุรกิจในประเทศโดยรวม ฉะนั้นมันจะทรมาน แม้ว่าปัจจุบันธุรกิจยังอยู่ได้ แต่ไม่มีรายได้เข้ามาแต่ถ้าเศรษฐกิจมันซึมยาวอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าแค่ 3-4 เดือนเหมือนคนที่กลั้นลมหายใจอยู่ใต้น้ำยังพอทนได้ ผิดกับปี 40 ที่ไม่มีอากาศหายใจเลยเหมือนคนอยู่ในกองเพลิง ไม่รู้จะไปทางไหนแต่มุมของประชาชนคนทั่วไปวิกฤติครั้งนี้ คนธรรมดาเละเป็นโจ๊ก เพราะ รายได้ไม่มี

          เตือนนักอสังหาฯอย่าฝืนตลาด

          นายอธิป กล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ่งที่นักพัฒนาอสังหาฯ ต้องปรับตัวเมื่อลูกค้าไม่ออกจากบ้านเพราะกังวลเรื่องการติดเชื้อ ต้องนำเสนอทางเลือกในการสื่อสารถึงกลุ่มลูกค้า แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อสังหาฯไม่ใช่ของที่สามารถซื้อขายผ่านออนไลน์ได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าแค่ศึกษาข้อมูล แต่เวลาที่ลูกค้าตัดสินใจ ส่วนใหญ่ต้องไปดูด้วยตนเองเพราะของไม่ใช่ราคาถูกๆ และสิ่งที่ ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังคือ อย่าไปฝืนตลาด เอาเงินไปทุ่มทำแคมเปญ ลดแลก แจกแถมโฆษณาเพราะสถานการณ์ขณะนี้ ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

          "ถ้าคุณมีกระสุนในมือแล้วยิงไปโดยยังไม่เห็นอะไรเป้าหมาย ไม่ควรทำ คุณควรจะถนอมกระสุน (งบ) ที่จะไปใช้ในเวลาที่เหมาะสม หรือสถานการณ์คลี่คลายน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า"

          ระบุต้องจัดการปัญหาหลายมิติ

          นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ถือเป็นผลกระทบ ที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ถือว่าทั่วโลกกำลังเข้าสู่วิกฤติที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ในรอบหลายสิบปี ซึ่งวิกฤติถือว่ามีความรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เกิดขึ้นเฉพาะใน บางประเทศในเอเชีย

          ดังนั้น วิธีการบริหารจัดการวิกฤติในช่วงปี 2540 และโควิด-19 จึงแตกต่างกัน โดยวิกฤติครั้งนี้มีแนวทางการบริหารจัดการต้องทำในหลากหลายมิติคู่ขนานกัน ตั้งแต่ การควบคุมโรคติดต่อ จนมาสู่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแรงงานในอาชีพต่างๆ รวมไปถึงภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตลอดจนการฟื้นฟูภาคธุรกิจ

          สำหรับมาตรการเยียวยาเป็นแพ็คเกจ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถือว่ารัฐบาลมีแผนบริหารจัดการที่ค่อนข้างดี และกระบวนการช่วยเหลือชัดเจน ครอบคลุมภาคธุรกิจที่เดือดร้อน จึงเชื่อว่าหากดำเนินการตามแผน จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว

          ย้ำรัฐต้องช่วยเหลือทุกภาคส่วน

          นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากเปรียบเทียบวิกฤติ โควิด-19 กับวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจในภาพรวม แต่วิกฤติต้มยำกุ้ง จะส่งผลกระทบกับสถาบันการเงิน และบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้อง พึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนภาคการค้า ภาคเกษตรกรรม ยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ ขณะที่วิกฤติโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบ ถึงคนทุกกลุ่มทุกระดับทุกอุตสาหกรรม

          อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเฉพาะเจาะจงถึงผลกระทบในภาคอสังหาฯ โดยตรง วิกฤติโควิด-19 อาจส่งผลกระทบ น้อยกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เนื่องจากในช่วงปี 2540 มีปัญหาเรื่องการลงทุนใน ภาคอสังหาฯ จนเกิดภาวะฟองสบู่แตกควบคู่ด้วย ขณะที่ปัจจุบัน แม้แนวโน้มดีมานด์ของตลาดอาจจะหดตัวลงราว 15-30% ในปี 2563 แต่ยังไม่มีสัญญาณของฟองสบู่แตก

          ทั้งนี้ หลายมาตรการที่รัฐออกมา ถือเป็นมาตรการที่ดี อาทิ การพักชำระหนี้ของเอสเอ็มอี 6 เดือน แต่อย่างไรก็ดี มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เช่น การแจกเงิน อยากให้ครอบคลุมถึง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงทุกกลุ่มจริงๆ ไม่กระจุกอยู่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากจะช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถยืนอยู่ได้ในวิกฤตินี้
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ