ครม.อนุมัติ บีบีเอส ลงนามอู่ตะเภา
Loading

ครม.อนุมัติ บีบีเอส ลงนามอู่ตะเภา

วันที่ : 3 มิถุนายน 2563
เดินหน้ารันเวย์ที่ 2 หาเอกชนควบคู่ทำอีไอเอ
          ครม.อนุมติ กลุ่มบีบีเอส ลงนามพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 19 มิ.ย. พร้อมไฟเขียวงบให้กองทัพเรือ 889.2 ล้าน จากงบกลาง 2563 และงบกลางปี 2564 ให้ลงทุนระบบอุตตุนิยมการบินและ นำสายไฟลงดิน ส่วนรันเวย์ที่ 2 ให้เดินหน้าหาเอกชนควบคู่ทำอีไอเอ

          นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบ ผลการคัดเลือกเอกชน ผู้จะร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและ เมืองบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือ กลุ่มกิจการ ร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสนอผลตอบแทนทั้งค่าเช่าและผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับรัฐสูงสุด ในมูลค่า 3.05 แสนล้านบาท ตลอดอายุสัญญาการบริหารโครงการ 50 ปี

          โดยขั้นตอนภายหลังจากที่ ครม. เห็นชอบแล้วอนุมัติให้สำนักงานเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)  ดำเนินการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน โดยจะกำหนดวันลงนามต่อไป

          ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า กำหนดการร่วมลงนามระหว่าง สกพอ. กับกลุ่มกิจการร่วมค่าบีบีเอส จะมีขึ้น ในวันที่ 19 มิ.ย.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล

          นางสาวรัชดา กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการ คัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างทางวิ่ง หรือ รันเวย์ที่2สนามบินอู่ตะเภา ควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อม(EIA) แต่ห้ามไม่ให้ลงนามกับเอกชนจนกว่าผลการศึกษา EIA จะแล้วเสร็จ และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

          ครม.ยังอนุมัติงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องรวมเป็นเงิน 889.2 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการอุตุนิยมวิทยา การบิน วงเงิน 468 ล้านบาท โดยจัดสรร ในปีงบประมาณต่อไป 2564-66 2.โครงการนำสายไฟฟ้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรื้อระบบสายไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 421.2 ล้านบาท

          สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นการพัฒนาในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, ศูนย์ธุรกิจการค้า และขนส่งภาคพื้นดิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน,เขตประกอบการค้าเสรีและ เขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และศูนย์ฝึกอบรมการบินเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท  ประเมินว่า รัฐจะได้รับผลตอบแทนทางการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) คิดในมูลค่าปัจจุบัน 3.05 แสนล้านบาท รายได้ภาษีอากร 6.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรกซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2566

          ก่อนหน้านี้ ช่วงก.พ.-เม.ย.ที่ผ่านมา สกพอ. ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน เจรจา 2 ชุด ได้แก่ 1.คณะทำงานเจรจา รายละเอียดด้านเทคนิค และ 2.คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน โดย คณะทำงานเจรจาฯ ทั้ง 2 คณะ ได้มีการประชุมเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ทางด้านเทคนิค การเงิน และข้อกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ภายใต้กรอบของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ หลักการโครงการที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแล้วเสร็จ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ