โควิดฉุดอสังหาฯภาคเหนือ รุก ออนไลน์ ดันยอดขาย
Loading

โควิดฉุดอสังหาฯภาคเหนือ รุก ออนไลน์ ดันยอดขาย

วันที่ : 10 มิถุนายน 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผย ไวรัสฉุดอสังหาฯ ภาคเหนือ ปรับเเผน รุก ออนไลน์ ดันยอดขาย
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจ 4จังหวัดภาคเหนือ"เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก " พบหน่วยเหลือขายปี 62 กว่า 17,843 หน่วย คาดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้อัตราดูดซับ ยอดโอนปี 63 วูบ หันรุกออนไลน์ดันยอด

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยผลสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี 2562 ในพื้นที่ ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และตาก พบว่าในพื้นที่ 4 จังหวัด มีโครงการที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการขายจำนวนรวม 17,843 หน่วย คิดเป็น 5% ของ 26 จังหวัด ที่ศูนย์ข้อมูลฯได้สำรวจในช่วงครึ่งหลังปี 2562  แบ่งเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 11,465 หน่วย เชียงราย 3,009 หน่วย พิษณุโลก 2,595 หน่วย และตาก 774 หน่วย

          โดยภาพรวมตลาดอสังหาฯภาคเหนือ ในช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องปี 2563 มีหน่วยเหลือขายค่อนข้างมาก ขณะที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้หน่วยเหลือขายในปี 2562 กลายมาเป็นหน่วยตั้งต้นของปี 2563 ยิ่งเมื่อได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของ โควิด -19 ส่งผลให้กำลังซื้อของ คนในพื้นที่ลดลง ขณะที่แรงกระตุ้นจากคนนอกพื้นที่หายไป รวมทั้ง กำลังซื้อของชาวต่างชาติ คาดว่า ส่งผลกระทบต่ออัตราดูดซับและการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ในปีนี้ลดลง

          นายปราชญ์ วงศ์วรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่ กล่าวว่า อสังหาฯในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้อัตราการดูดซับและอัตราการโอนลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของจังหวัดได้รับ ผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะ ธุรกิจโรงแรมพนักงานตกงาน จำนวนมาก ทำให้กำลังซื้อส่วนนี้หายไป และจากสภาพเศรษฐกิจทำให้ผู้บริโภคไม่กล้ากู้เงินซื้ออสังหาฯ เพราะขาดความเชื่อมั่น ในฐานะผู้ประกอบการพยายาม ที่จะเข้าถึงลูกค้าโดยใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับ ลูกค้าที่มีความกังวลในการเดินทางไปที่โครงการ

          นายยศวัจน์ รุ่งคณาวุฒิ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯ ในพิษณุโลกค่อนข้างซบเซา อัตราการดูดซับลดลงเนื่องจาก คนไม่มีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการ จึงต้องพยายามกระตุ้นตลาดด้วย การขยายช่องทางออนไลน์ เพื่อ เข้าถึงลูกค้าใหม่มากขึ้น แทนที่จะนั่งรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาในโครงการเหมือนในอดีต คนขายต้องทำทุกอย่าง ทั้งไลฟ์สด ลดราคาถือเป็นโอกาสที่ดี ของคนซื้อในช่วงเวลานี้ แต่ต้องยอมรับว่าสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น