ภาษีที่ดินฯเร่งคนสร้างบ้านหนีที่รกร้าง
Loading

ภาษีที่ดินฯเร่งคนสร้างบ้านหนีที่รกร้าง

วันที่ : 8 กันยายน 2563
ภาษีที่ดินฯ เร่งคนหันมาปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ ลดความเสี่ยงที่ดินรกร้าง
           "แลนดี้ โฮม" มั่นใจยอดขายปีนี้ทะลุเป้า 2,000 ล้านบาท รับดีมานด์ลูกค้าล้นทะลัก เผยผลจากภาษีที่ดินฯ คนหันมาปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ ลดความเสี่ยงที่ดินรกร้าง

          นางสาวพรรัตน์ มณีรัตนะพร ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขายบริษัท แลนดี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 2563 ว่า ช่วงครึ่งปีแรก ตลาดหดตัวไม่น้อยกว่า 20-30% จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่สำหรับบริษัท แลนดี้ โฮมฯ มียอดขายที่เติบโต

          โดยในครึ่งปีแรก สามารถทำยอดขายไปกว่า 1,100 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 62 ถึง 27% ระดับราคาที่ปลูกสร้างบ้านเฉลี่ย 5-15 ล้านบาท แต่ก็มีบางกลุ่มทียอดขายดี เช่น ราคา 3-5 ล้านบาท เป็นต้น

          ทั้งนี้ เป้าหมายทั้งปีที่ 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะทำได้เกินเป้า ซึ่งเป้าที่วางไว้เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 15% โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ออกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯประมาณ 75% ต่างจังหวัด 25% มาจากกลุ่มราคาบ้านหลังเล็ก (ราคา 2-5ล้านบาท) ประมาณ 22% กลุ่มบ้านขนาดกลาง (ราคา 5-15%) คิดเป็น 48% และกลุ่ม บ้านหรู (ราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป) คิดเป็น 30%

          "ดีมานด์ลูกค้าจะปลูกสร้างบ้านมีเยอะ โดยผลจากโควิด ทำให้มองหาพื้นที่แนวราบมากขึ้น ประกอบกับประเด็นเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ที่มีที่ดินอยู่เดิม เริ่มปลูกสร้างบ้านในพื้นที่ อย่างเช่น ลูกค้าของบริษัทที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีที่ดิน ข้างเคียงอยู่ และได้เวลาในการปรับปรุงบ้านเลย เลย ตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน เพื่อมิให้ที่ดินเข้าข่ายเป็นที่รกร้าง เป็นต้น"

          ก่อนหน้านี้ ทางสมาคมรับสร้างบ้าน ประเมินว่าตลาดรับสร้างบ้าน ยังมีโอกาสที่เติบโต เนื่องจากเป็น กลุ่มที่มีเงินออม และมีความตั้งใจในการสร้างบ้าน เนื่องจากมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า 1-2 ปี และจากข้อมูลของทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ดินที่ยังว่างใน กทม.พร้อมจะสร้างบ้าน (ไม่ใช่เพื่อเชิงการพาณิชย์) มีประมาณ 120 ล้านตารางเมตร (ตร.ม.) มีประมาณ 50% อยู่ใน 10 เขตหลักของ กทม.โดยเฉลี่ยการสร้างบ้านต่อคนทั่วประเทศเฉพาะตัวบ้านจะอยู่ที่ 130 ตร.ม. และหากรวมพื้นที่ทั้งหมดจะประมาณ 400 ตร.ม. เฉลี่ยไม่เกิน 100 ตารางวา

          "อยากให้ภาครัฐมองว่า ตลาดรับสร้างเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มเรียลดีมานด์จริงๆ อยากให้รัฐส่งเสริม ไม่ทำให้เกิดฟองสบู่ สร้างแล้วอยู่และใช้ มีมูลค่ารวมสูงถึง 200,000 ล้านบาท และยังมีที่ดินว่างเปล่าสร้างบ้านอีกเยอะ และบ้านที่มีอายุการใช้งาน 30-40 ปี ก็จะมีการปรับปรุงและสร้างใหม่ จากข้อมูลในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอยู่ 300,000 หลัง กลุ่มนี้เราจะทำให้อย่างไรที่จะกระตุ้นให้คิดสร้างใหม่ และยังมีฐานะการออมที่สูง" นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าว
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ