ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง กทม.ถึงเวลาจัดเก็บ คนกรุงต้องจ่าย
Loading

ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง กทม.ถึงเวลาจัดเก็บ คนกรุงต้องจ่าย

วันที่ : 13 มกราคม 2564
เตรียมตัวจ่าย ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง
          กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดและหลักเกณฑ์การจัดเก็บและเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน

          สำหรับรายละเอียดนั้นนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ปลัด กทม. กล่าวว่า แต่เดิมการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึง กทม.มีการจัดเก็บภาษี 3 ประเภท ได้แก่ ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย แต่ต่อจากนี้ไปมีภาษีใหม่ คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มาแทนภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ส่วนภาษีป้ายเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี

          ทั้งนี้ นางศิลปสวยกล่าวว่า ภาษีที่ดินใหม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บเพื่อแก้ไขปัญหาในด้านการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้ แก้ปัญหาเรื่องภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในกรณีการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ลดความเหลื่อมล้ำของความรวยและความจน แก้ปัญหาที่ดินรกร้าง ให้นำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับ อปท. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐว่ามีการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรมในท้องถิ่น

          "ภาษีที่ดิน หรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่ดินใหม่ มาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่มาแทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งถูกยกเลิกไป โดยผู้มีหน้าที่จัดเก็บ ได้แก่ อปท. รวมถึง กทม. และเมืองพัทยา" ปลัด กทม.กล่าว

          ทั้งนี้ ภาษีที่ดินใหม่นี้จะทำการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ในครอบครอง โดยจะทำการจัดเก็บเป็นรายปี โดยแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

          1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ประกอบเกษตรกรรม ผู้เสียภาษีจะต้องเป็นผู้ที่มีที่ดินทำเกษตรมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ซึ่งใช้ในการทำการเกษตรกรรมต่างๆ เช่น ทำนา ทำไร่ หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยจะมีมูลค่าทรัพย์สินเริ่มต้นที่ 0-75 ล้านบาท คิดอัตราภาษีเป็น ร้อยละ 0.01 ไปจนถึงมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะคิดอัตราภาษี ร้อยละ 0.1 (ภาษี ล้านละ 100 บาท)

          2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย ผู้เสียภาษีจะต้องเป็นผู้ที่มีที่อยู่อาศัยหลังแรกมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เป็นเจ้าของบ้านแต่ไม่ใช่เจ้าของที่ดินที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาท และผู้มีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 โดยมูลค่าที่เริ่มต้นที่ 0-50 ล้านบาท และคิดอัตราภาษีอยู่ที่ ร้อยละ 0.02 (ภาษี ล้านละ 200 บาท)

          3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากข้อ 1 และข้อ 2 ผู้เสียภาษีจะต้องเป็นผู้ที่มีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างไว้ในครอบครองและใช้เพื่อการค้าหรือแสวงหากำไร เช่น การปล่อยเช่า ฯลฯ จะต้องเริ่มเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์เริ่มต้นที่ 0-50 ล้านบาท และคิดอัตราภาษีที่ร้อยละ 0.3 (ภาษี ล้านละ 3,000 บาท)

          4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามความแก่สภาพ ผู้เสียภาษีจะต้องเป็นผู้ที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งร้างไว้ ไม่ได้นำมาทำประโยชน์อะไร โดยจะมีมูลค่าหลักทรัพย์เริ่มต้นที่ 0-50 ล้านบาท อัตราภาษีร้อยละ 0.3 ไปจนถึงมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะคิดอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.7 (ภาษี ล้านละ 3,000 บาท)

          นางศิลปสวยกล่าวว่า สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินใหม่ ได้แก่ เจ้าของในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยคำว่าเจ้าของในที่นี้คือ การเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของในโฉนดในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือถ้าเป็นเจ้าของร่วมกันหลายคน เจ้าของร่วมคนใดคนหนึ่งชำระภาษีครบถ้วนก็ถือว่าเรียบร้อยแล้ว และต้องชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ เหมือนกับการชำระภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งถูกยกเลิกไป (ยกเว้นปี 2563 สามารถชำระภาษีได้ถึงเดือนสิงหาคม) ซึ่งสูตรคำนวณเป็นขั้นบันไดตามมูลค่าของฐานภาษีและจะปรับราคาประเมินที่ดินตามรอบบัญชีประเมินราคาทุก 4 ปี (ตามการปรับราคาประเมินที่ดินจากกรมธนารักษ์) ดังนี้

          1.สูตรคำนวณหาภาษีสำหรับที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง คำนวณจากสูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี โดยมูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ต่อ ตารางวา (ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน

          2.สูตรคำนวณหาภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คำนวณจากสูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ต่อ ตร.ม. x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง

          3.สูตรคำนวณหาภาษีสำหรับห้องชุด คำนวณจากสูตร : ภาษีที่ต้องจ่าย = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี โดยมูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด ต่อตาราง เมตร (ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด ที่คิดเป็น ตร.ม.

          ปลัด กทม.กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติ กทม.โดยสำนักงานเขตต่างๆ จะต้องจัดทำประกาศบัญชีรายการทรัพย์สิน ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุด ณ สำนักงานเขตที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบและยื่นคำร้องขอแก้ไขต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากพบว่าบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกต้อง ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี

          "แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งสำนักงานเขตต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น จัดพื้นที่เพื่อลดความแออัด กำหนดเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล กทม. โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 จึงให้ขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศ พร้อมทั้งจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบจากภายในเดือนธันวาคม 2563 เป็นภายในเดือนมกราคม 2564 จึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบ และไม่ต้องเร่งรีบไปตรวจสอบบัญชีฯ โดยขอให้ทยอยกันไปตรวจสอบ และอย่ารีรอจนถึงใกล้สิ้นสุดกำหนดเวลา แล้วจึงเดินทางไปตรวจสอบ เพราะจะทำให้เกิดความแออัดเช่นกัน" นางศิลปสวยกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ