โควิดระลอก 2 ฉุดกำลังซื้อบ้านหาย
Loading

โควิดระลอก 2 ฉุดกำลังซื้อบ้านหาย

วันที่ : 15 มกราคม 2564
REIC เปิดเผยว่า โควิดรอบสองฉุดดัชนีความเชื่อมั่นดิ่ง
          ผู้คนรายได้หดกดดัชนีความเชื่อมั่นทรุด!

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วงไตรมาส 4 ปี 63 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน ผู้ประกอบการมีภาวะความเชื่อมั่นดีขึ้นอยู่ที่ 46.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 42.8% แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50% ติดต่อกัน 7 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 62 ซึ่งเป็นผลจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการยังคงขาดความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่วนผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นใน 6 เดือนข้างหน้า ที่ได้สำรวจผู้ประกอบการช่วงปลายปี 63 ซึ่งยังไม่มีการแพร่ไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 54.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 52.9% สูงกว่าค่ากลาง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการขณะนั้น เริ่มมีความหวังต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 64 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง

          "การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้ คาดว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ 6  เดือนแรกปี 64 ปรับตัวลงกว่าผลที่สำรวจข้างต้นและมีความเป็นไปได้ว่าปี 64 จะติดลบถึง 10% ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง เพราะปีนี้กำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจมีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบในแง่รายได้ต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบรุนแรง"

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ยังได้ประเมินถึงการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 64 ในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีจำนวน 89,000 หน่วย แบ่งเป็นแนวสูง 36,000-37,000 หน่วย และแนวราบ 52,000 หน่วย แต่ถ้าโควิดยืดเยื้ออาจลดลงอีก 10,000 หน่วย เหลือ 79,000 หน่วย เท่ากับปีนี้จะอยู่ระหว่าง 79,000-89,000 หน่วย สูงกว่าปี 63 ที่เปิดใหม่รวม 71,500 หน่วย แม้ปีนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการยังต้องเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะสต๊อกพร่องลงจากปีก่อน ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ผ่านการจำลองหลายสถานการณ์เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับดีที่สุดตลาดจะโต5-10% ระดับกลางตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5% และระดับแย่ที่สุดติดลบ 10% เท่าปี 63 เท่ากับว่าภาพรวมตลาดทั่วประเทศลดลงถึง 20% ซึ่งรุนแรงพอควรเพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54