คมนาคมเข็นลงทุนปีสุดท้าย ราง-มอเตอร์เวย์ 1.57ล้านล้าน
Loading

คมนาคมเข็นลงทุนปีสุดท้าย ราง-มอเตอร์เวย์ 1.57ล้านล้าน

วันที่ : 9 พฤษภาคม 2565
ปี 2565 กระทรวงคมนาคมเน้นโครงการลงทุนในภูมิภาคเพื่อขยายโครงข่ายคมนาคมและพัฒนาเมือง สำหรับรองรับการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ โดยจะฟื้นฟูชายหาดแหล่งท่องเที่ยว
           "คมนาคม" กางแผน ดันประมูลเมกะโปรเจกต์ 36 โครงการ กว่า 1.57 ล้านล้าน  ประเดิมโครงการ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ "ศักดิ์สยาม" มั่นใจปีนี้ดันเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ตามแผน 2 แสนล้าน

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมจะผลักดัน แผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) จำนวน 36 โครงการ วงเงินกว่า 1.57 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้เริ่มขั้นตอนประกวดราคาและได้ตัวผู้รับเหมางานโยธาแล้ว อาทิรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม- บางขุนนนท์ วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่จะเริ่มการลงทุนระหว่างปี 2565-2571 วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท

          ขณะเดียวกันยังมีการประกวดราคา ได้ตัวผู้รับเหมาแล้วในส่วนของโครงการ รถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงรายเชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม ที่มีวงเงินลงทุนรวม 1.28 แสนล้านบาท

          ส่วนโครงการอื่นที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการศูนย์ขนส่ง ชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงิน 1,300 ล้านบาท โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6(อุบลราชธานี-สาละวัน)จังหวัดอุบลราชธานี วงเงิน 4,700 ล้านบาท

          รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียนบางบัวทอง วงเงิน 56,000 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 27,000 ล้านบาท

          โครงการมอเตอร์เวย์สาย M8 สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม- ปากท่อ วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท และโครงการทางพิเศษช่วงเมืองใหม่- เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 30,000 ล้านบาท

          พัฒนาดอนเมือง-เชียงใหม่

          อีกทั้งปี 2565 กระทรวงคมนาคมเน้นโครงการลงทุนในภูมิภาคเพื่อขยายโครงข่ายคมนาคมและพัฒนาเมือง สำหรับรองรับการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ โดยจะฟื้นฟูชายหาดแหล่งท่องเที่ยว อาทิ หาดจอมเทียน รวม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และหาดบางแสน วงเงิน 440 ล้านบาท นอกจากนี้มีการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ท่าอากาศยานดอนเมือง 36,000 ล้านบาท ท่าอากาศยานชุมพร 3,200 ล้านบาท และท่าอากาศยานระนอง 3,500 ล้านบาท

          นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2565 จากแผนลงทุนปีนี้ กระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบ 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันเบิกจ่ายงบประมาณได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.พ.2565 เบิกจ่ายงบประมาณได้มากขึ้น 15,957 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 9.25% ส่วนการเบิกจ่าย ณ เดือน มี.ค.2565 จะมีการประชุมสรุปผลในช่วงสัปดาห์หน้า

          ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้พบว่าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมลงนามสัญญารายจ่ายลงทุนแล้ว 7,413 รายการ วงเงิน 74,573 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 92.38% ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร ทั้งหมด 7,750 รายการ วงเงิน 80,722 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นรายการรายจ่ายลงทุนปีเดียว, รายการลงทุนผูกพันรายการใหม่ และรายการรายจ่ายลงทุนที่วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท

          ส่วนงบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี 2565 จำนวน 10 รัฐวิสาหกิจวงเงินรวม 117,530.39 ล้านบาท แผนการเบิกจ่าย เงิน (1 ต.ค.2564-28 ก.พ.2565) จำนวน 20,785 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นเดือน ก.พ.2565 รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายเงินแล้ว 16,512 ล้านบาท คิดเป็น 79.44% ของแผนเบิกจ่ายสะสม โดยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามแผนที่กำหนดไว้

          รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 จะเห็นเมกะโปรเจคประกาศประกวดราคาต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่กรมทางหลวง (ทล.) เตรียมสรุป ผลการศึกษารายงานกระทรวงคมนาคม อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์ M9 ที่จะ นำร่องช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน วงเงิน 56,035 ล้านบาท และโครงการโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 39,956 ล้านบาท

          รฟท.ดันทางคู่7เส้นทาง

          รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า โครงการเมกะโปรเจคของ ร.ฟ.ท.ที่จะเปิดประมูลปี 2565 จะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท เนื่องจากการหารือ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟสายนี้จะส่งเสริม เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและ ต่อรถไฟลาว-จีน

          สำหรับรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่นหนองคาย ได้เสนอให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.เห็นชอบแล้วเมื่อ 27 ธ.ค.2564 มั่นใจว่าในปีนี้จะสรุปผลการศึกษาออกแบบและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาเริ่มงานก่อสร้าง หลังจากนั้นจะเริ่มจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) และเริ่มประกวดราคาทันที และในปี 2566-2567 จะเริ่มขั้นตอนสำรวจอสังหาริมทรัพย์ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน เสร็จต้นปี 2569

          เสนอ สศช.อนุมัติโครงการ

          ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทางอื่นอีก 6 เส้นทาง จะทยอยลงทุน โดยจะขอความเห็นจาก สศช.เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และปรับปรุงรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน โดยรถไฟทางคู่ส่วนนี้คืบหน้าดำเนินการ คือ

          1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท กำลังทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการและเสนอรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

          2.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร วงเงิน 24,200 ล้านบาท กำลังปรับปรุงรายงานอีไอเอ 3.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร วงเงิน 57,300 ล้านบาท กำลังทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการและอีไอเอ

          5.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร วงเงิน 56,800 ล้านบาท กำลังทำข้อมูลเสนอขออนุมัติโครงการ และอีไอเอ 6.ช่วงชุมทางถนนจิระอุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท ได้รับ ความเห็นชอบรายงานอีไอเอแล้ว และกำลังทำข้อมูลเพื่อเสนออนุมัติโครงการ

          ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ดมุกดาหาร-นครพนม วงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท ร.ฟ.ท.ได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการกับผู้รับจ้างรวมทั้งสิ้น  5 สัญญาเมื่อปลายปี 2564 คาดว่าจะส่งมอบ พื้นที่เพื่อให้ผู้รับเหมาทยอยเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ประมาณกลางปีนี้
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ