ผุดเมืองใหม่ คู่แฝดพัทยา เวนคืน 1.4 หมื่นไร่ ห้วยใหญ่-บางละมุง
Loading

ผุดเมืองใหม่ คู่แฝดพัทยา เวนคืน 1.4 หมื่นไร่ ห้วยใหญ่-บางละมุง

วันที่ : 27 กรกฎาคม 2565
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC คือสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท
          พื้นที่อัจฉริยะมูลค่า 1.3 ล้านล้าน

          รองรับ 3.5แสนคนใน10ปี

          ที่ดินบางละมุง ชลบุรี ร้อนฉ่า บิ๊กตู่ปักหมุดเมืองใหม่อีอีซี  1.3 ล้านล้าน พลิกที่ดินสปก.ตำบลห้วยใหญ่ 14,619 ไร่ สู่ย่านธุรกิจการค้าระดับโลก ลุยเวนคืนปลายปีนี้  คลุม 4 หมู่บ้าน ชี้ชัดหมู่ 13 บ้านหนองผักกูดกระทบสุด ประเดิมเฟสแรก 2,000 ไร่ เชื่อมไฮสปีด-อู่ตะเภา ดันราคาที่ติดทล. 331 พุ่ง

          เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี กลับมาเดินหน้าอีกครั้งเมื่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติอนุมัติร่างแผนแม่บท และแผนการดำเนินงานโครงการศูนย์ธุรกิจ อีอีซีและเมืองใหญ่น่าอยู่อัจฉริยะ วงเงินลงทุนประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมถึงเมืองการบิน  มีความชัดเจนกำหนดลงมือตอกเสาเข็มได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ประเมินว่าจะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้าพื้นที่

          ยึดที่สปก.ปั้นเมืองใหม่

          แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะในอีอีซี แล้ว โดยเลือกตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บนที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรม (ส.ป.ก.) เนื้อที่ 14,619 ไร่ จากที่ผ่านมาได้เคยศึกษาไว้เมื่อปลายปี 2563 ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ตำบลโป่ง ตำบลห้วยใหญ่ และตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวมกว่า 7 หมื่นไร่ รองรับการเดินทางของคนต่างถิ่นอีกทั้งต่างชาติเข้าพื้นที่อีอีซีในระยะ 20 ปีข้างหน้า โดยเบื้องต้น เลือกตำบลห้วยใหญ่ เนื้อที่ 1.46 หมื่นไร่ แต่หากมีความต้องการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น  อาจจะขยายพื้นที่เพิ่มในอนาคต
          สำหรับการเลือกใช้ที่ดินส.ป.ก. เพราะมีต้นทุนที่ไม่สูง สามารถรวมแปลงขนาดใหญ่เป็นผืนเดียวกันได้

          อีกทั้ง ไม่มีการคัดค้านมาก เพราะเป็นที่ดินของรัฐ ขณะการกว้านซื้อที่ดินของนายทุนได้รับการบอกเล่าจากคนในพื้นที่ว่ามีแต่เมื่อมีการเวนคืนจะได้รับค่าชดเชยสะท้อนตามราคาที่เป็นจริง

          ส่วนการพัฒนาจะเน้นรูปแบบเมืองที่ไม่มีอาคารที่สูงแต่เน้นใช้ชีวิตการอยู่อาศัย, การทำงานที่เต็มไปด้วยความสุขและสะดวกสบาย คาดว่าจะมีการออกแบบรายละเอียดในไม่ช้านี้

          เปิดเอกชนเช่าพัฒนาพื้นที่

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกระบุว่าเป็นโครงการลงทุนประกอบด้วย ภาครัฐลงทุนเรื่องที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการส่วนกลาง โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนเพื่อให้เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจเช่าที่ดินหรือร่วมลงทุนหรือลงทุนในกิจการด้านระบบสาธารณูปโภค หรือเอกชนเช่าพื้นที่ลงทุนด้านพื้นที่พาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย สะดวกสบาย  มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายคมนาคมอัจฉริยะที่สะดวกรวดเร็ว มีระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ที่ครบถ้วน เกิดประโยชน์กับประเทศ ไทยโดยรวม และจะมีเมืองรองที่ทันสมัย มีเมืองใหม่แห่งอนาคต เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองเน้นความน่าอยู่ เป้าหมายพัฒนาโครงการ 10 ปี มีเงินลงทุนโครงการประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท

          "ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะของ EEC คือสามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คน ภายในปี 2575 รวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 และมีมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจและบริการมาตรฐานสากล มีวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ประมาณ 150-300 กิจการ"

          เวนคืนรวดยกหมู่บ้าน

          ด้านการดำเนินการจะใช้การเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะดำเนินการได้ปลายปีนี้ หรือต้นปี 2566  ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ 6 บ้านบึง, หมู่ 11 บ้านมาบฟักทอง, หมู่ 12 บ้านนอก, หมู่13 บ้านหนองผักกูด ซึ่งพื้นที่ที่กระทบมากที่สุดจะอยู่ที่หมู่ 13 โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงเกษตรของประชาชน ทั้งสวนยางพารา, สวนปาล์ม, สวนมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาทีมอีอีซีได้ลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ล่าสุดอยู่ระหว่างต่อรองราคาเนื่องจากชาวบ้านให้เหตุผลว่าราคาที่ชดเชยต่ำเกินไป

          ด้านแหล่งข่าว จากเทศบาลตำบลห้วยใหญ่ กล่าวว่า คณะกรรมการอีอีซี ในพื้นที่ชลบุรี ได้คัดเลือกพื้นที่บ้านหมู่ที่ 13 เป็นพื้นที่นำร่อง ที่ตั้งสำนักงานอีอีซีเนื้อที่ราว 2,000 ไร่ ได้ทำประชาคมในพื้นที่เกี่ยวกับการนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปใช้ประโยชน์พัฒนาเป็นเมือง ซึ่งจะต้องมีการถอนสภาพจากที่ดินพื้นที่สีเขียวเกษตรกรรมเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ตามผังเมืองรวมอีอีซี

          อย่างไรก็ตาม ผลของการเจรจามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห้นด้วยเนื่องจากค่าชดเชยที่ประเมินยังถือว่าต่ำขณะราคาที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ติดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 (สัตหีบ -เขาชีจรรย์) ราคาบวก-ลบ 1 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งราคาขยับขึ้นต่อเนื่อง

          เปิดทำเลทองใหม่

          ทำเลที่ตั้งเมืองใหม่ ตำบลห้วยใหญ่ จะตั้งอยู่ติดกับทางหลวงหมายเลข 331 (สัตหีบ-เขาชีจรรย์) บริเวณสถานีตำรวจภูธร ห้วยใหญ่ บางละมุง หรือใช้เส้นทางมอเตอร์ เวย์ สาย 7 มุ่งหน้าไปจังหวัดระยอง เลี้ยวซ้ายลงด่านโป่ง ตรงไปบางละมุง ใกล้สนามพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต, ธรรมศาสตร์ พัทยา ราคาที่ดินน่าจะขยับสูง

          เหตุผลที่เลือกตำบลห้วยใหญ่ เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางที่สะดวกและใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองพัทยา ใกล้สนามบินอู่ตะเภา อีกทั้งยังใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทางจากตำบลห้วยใหญ่ เพียง 1 ชั่วโมง

          เป้าหมายพื้นที่เมือง ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาเบื้องต้นโดยพื้นที่หมู่ 11 เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ จะพัฒนาเป็นโครงข่ายถนนขนาด 4-8 ช่องจราจร เชื่อมไปยัง หมู่ 13 ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องเฟสที่ 1 โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยที่มีอยู่ล็อตแรก 1,500 ล้านบาท เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด

          อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่มีแผนพัฒนามีทั้งหมด 7 หมื่นไร่ แต่จะทยอยพัฒนาเป็นคราวละเฟส ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการใช้พื้นที่
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ