Green Building แรงต่อเนื่อง คาด 2 ปีคนไทยตระหนักปัญหาสวล.เทียบฝรั่ง หนุนปริมาณใช้กรีนแมททีเรียลอุตฯก่อสร้างพุ่ง
Loading

Green Building แรงต่อเนื่อง คาด 2 ปีคนไทยตระหนักปัญหาสวล.เทียบฝรั่ง หนุนปริมาณใช้กรีนแมททีเรียลอุตฯก่อสร้างพุ่ง

วันที่ : 29 พฤศจิกายน 2565
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคลาวด์ และระบบเทคโนโลยีสำหรับองค์กร กล่าวว่า ในวันนี้บริษัทอสังหาฯ แทบทุกแบรนด์ต่างเห็นภาพที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ทุกๆค่ายที่เราเข้าไปนำเสนอสินค้า ต่างมีการสอบถามว่าเรามี product ไหนบ้าง ที่ทำให้โครงการที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นได้รับการยอมรับและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะมีอุปสรรคในเรื่องของราคากรีนแมททีเรียล ซึ่งยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุก่อสร้างทั่วไปในตลาด
          อสังหาริมทรัพย์

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาภาวะโลกร้อนและมลพิษในสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจต่างๆ พูดถึงแนวทางการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้พยายามผลักดันให้อาคารสีเขียว (Green Building) ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วย ให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน โดยอาคารสีเขียวจะเป็นหนึ่งกระบวนการที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการก่อสร้างและกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ

          อาคารสีเขียวนั้นประกอบด้วยโครงสร้างอาคารและกระบวนการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งานของอาคาร ตั้งแต่กระบวนการวางแผนไปจนถึงการออกแบบ, การก่อสร้าง, การใช้งาน, การบำรุงรักษา, การปรับปรุง และการรื้อถอน ซึ่งผู้รับเหมา, สถาปนิก, วิศวกร และลูกค้าต้องมีการดูแลกระบวนเหล่านี้อย่างใกล้ชิดตลอดทุกขั้นตอนของโครงการ นอกจากนี้ อาคารสีเขียวเป็นแนวคิดที่มากกว่า คำว่าสถาปัตยกรรม โดยเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด เพื่อลดการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นในทางที่ผิดและเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

          โดยอาคารสีเขียวจะมีองค์ประกอบ ในเรื่องของการใช้พลังงาน, น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ มีการใช้มาตรการลดมลพิษและของเสีย รวมถึงการนำวัสดุมาใช้ซ้ำและการรีไซเคิล มีคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ดี มีการใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษ, ถูกหลักจริยธรรมและมีความยั่งยืน มีการพิจารณา สภาพแวดล้อมในการออกแบบ, การก่อสร้าง และ การใช้งาน มีการพิจารณาคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยในการออกแบบ, การก่อสร้างและการใช้งาน และมีการออกแบบที่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

          ทั้งนี้ อาคารทุกอาคารสามารถเป็นอาคารสีเขียวได้ หากอาคารนั้นมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาข้างต้น และที่ผ่านมาบริษัทอสังหาฯ หลายบริษัทพยายามพัฒนาอาคารสำนักงาน หรือโครงการของตนเองภายใต้นโยบาย Green Building แต่ปัญหาที่ต้องประสบคือ ราคาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง และวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ มีจำกัด ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในงานก่อสร้างได้ครอบคลุมทั้งอาคาร

          รศ.ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รองประธานสถาบันอาคารเขียวไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลพิษทางอากาศ จนส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการก่อสร้าง หรือออกแบบอาคารที่เริ่มมีการสร้างหรือพัฒนาอาคารในลักษณะของ Green Building ที่จะสะท้อนถึงความใส่ใจ รับผิดชอบต่อสังคม และ สิ่งแวดล้อมของผู้พัฒนา ซึ่ง WELL Building Standard ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานการออกแบบระดับโลกที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมากในเรื่องการออกแบบอาคาร เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้อยู่อาศัย และเป็นที่ยอมรับไปกว่า 125 ประเทศทั่วโลก ในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะสำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย

          นายกฤษดา สาธุรกิจชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคลาวด์ และระบบเทคโนโลยีสำหรับองค์กร กล่าวว่า ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท แทรนดาร์ อะคูสติก ผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับองค์กร และเนทติเซนท์ จำกัด ผู้วางระบบซอฟต์แวร์ระบบ ERP และ SAP และเป็นผู้ก่อตั้ง Harmony Wazzadu รวมถึงเป็นหนึ่ง ในผู้ถือหุ้น wazzadu.com จึงมองเห็นภาพรวม และแนวโน้มในการผลักดัน green material และ Sustainability ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งในเรื่องนี้สังคมมีการพูดถึงมานานแล้ว แต่การดำเนินการแบบจริงจัง ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาทุกๆ ประเทศทั่วโลกต่างประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การส่งเสริมในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนชะลอออกไป

          โดยในปีนี้เชื่อว่าจะเป็นปีเริ่มต้นการส่งเสริม ให้เกิดความยั่งยืน น่าจะกลับมาเข้มข้นมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังผ่านพ้นภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ซึ่งการกลับมาในปีนี้ทำให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยในการติดตามและจัดเก็บข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น ทั้งในด้านการจัดเก็บข้อมูลตลาด ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลความต้องการ ข้อมูลสินค้าการพัฒนาสินค้า วัสดุก่อสร้างและการบริหารจัดการ ฯลฯ ที่เกี่ยวกับการทำเรื่องกรีน ซึ่งนั่นหมายความว่านับจากนี้ไปการทำเรื่องกรีน จะไม่ได้เป็นเพียงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) อีก ต่อไป แต่ต่อจากนี้การทำเรื่องกรีนจะลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของธุรกิจ และจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตด้านกำไรให้กับธุรกิจในอนาคต ให้กับองค์กรต่างๆ

          "ผมว่าในอดีตการทำเรื่องกรีนเป็นเรื่องของ การทำ CSR แต่นับจากปีนี้ เป็นต้นไปการทำเรื่องกรีนจะเป็นเรื่องของการนำกำไรมาสู่องค์กรในภาพรวม และยังเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไปด้วย ในขณะเดียวกันคาร์บอนเครดิตยังสามารถนำมาซื้อขายกันได้ ดังนั้นจากนี้ไปทุกองค์กรจะหันมาให้ความสนใจและต้องการนำกรีนแมททีเรียลเข้ามาใช้จริงจังมากขึ้น และจะทำให้วัสดุก่อสร้างที่เป็นกรีน หรือวัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และ ในอนาคตวัสดุก่อสร้างทุกๆ ตัวก็จะถูกพัฒนาออกมาทางกรีนมากขึ้น เพราะถ้าไม่ให้ความสำคัญกับ สิ่งแวดล้อมสินค้าที่พัฒนาออกมาจะขายยากขึ้น"

          จากแนวโน้มดังกล่าวจึงทำให้ เกิดการร่วมมือของ Wazzadu.com, Netizen, Huawei และ Harmony Wazzadu ร่วมกับงาน WOW อัศจรรย์เมืองน่าอยู่ ร่วมจัดฟอรั่มเมืองแห่งอนาคต ประจำปี 2565  "Future City Forum 2022" ซึ่งเป็นงานฟอรั่มที่จะพาคุณสู่ การมาส่องแนวคิดการพัฒนาเมืองในอนาคตร่วมกัน ภายใต้แนวคิด Tech for Better Living เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยที่ดี

          สำหรับแนวทางในการผลักดันให้เกิดการนำวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือกรีนแมททีเรียลในกลุ่มผู้บริโภคนั้น จุดหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันให้เกิด การใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นกรีนแมททีเรียลในระดับ ผู้บริโภคจริงๆ คือ ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และปัญหาโลกร้อน ที่เกิดขึ้นทำให้ ทุกคนมีความตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางด้านฤดูกาล สภาพอากาศ การเกิดอุทกภัยต่างๆ เป็นผลมาจาก Climate change หรือแม้กระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจาก climate change ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้คนเริ่มตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม

          ดังนั้น การที่คนหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้กรีนแมททีเรียลมากขึ้นนั้น เกิดมาจากสภาพแวดล้อมที่ผลักดันให้คนเราต้องหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม มากขึ้น ดังนั้น จากนี้ไปคนจะหันมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นกลิ่นมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีการโฆษณาหรือการผลักดันให้เกิดการใช้วัสดุที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคนเริ่มสัมผัสกับผลกระทบ ที่ตามมาจากปัญหาโลกร้อนและภาวะมลพิษใน สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดการตระหนักและหันมาใช้แมททีเรียลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยปริยาย

          "ในอดีตนั้นการพยายามผลักดันให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์และผู้บริโภคทั่วไป หันมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยุ่งยากต้องใช้ งบประมาณในการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานแต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนหันมาใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะคนยังไม่ตระหนัก และไม่ได้สัมผัสกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น การโฆษณาและการพักผ่อนให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นการขายฝัน แต่ ทุกวันนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นและทุกคนสามารถสัมผัส ได้ทำให้การผลักดันให้เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องขายฝันอีกต่อไป"

          นายกฤษดา กล่าวว่า จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันผู้ผลิตและพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีหน้าที่จะต้องมาผลักดัน ให้เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นในอดีต แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ที่จะพัฒนาและ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพราะในปัจจุบันในเรื่องของ Sustainability เรื่องของกรีน เรื่องความยั่งยืน ทุกคนเริ่มตระหนักและต้องการอย่างแท้จริงแล้ว

          สำหรับความตื่นตัว การตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการใช้วัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเรื่อง Sustainability ในประเทศไทยในกลุ่มประชาชนหรือผู้บริโภคในประเทศไทยนั่น เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปและอเมริกาประเทศไทยถือว่าเพิ่งเริ่มต้น อยู่ในจุดที่เริ่มสตาร์ท หากจะให้คะแนนประเทศไทยมีความตระหนักอยู่ที่ประมาณ 30% จากคะแนนเต็ม 100% ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรป อเมริกาจะอยู่ในระดับ 60-70% แล้ว คาดว่า 2-3 ปีระดับความตระหนักเกี่ยวปัญหาสิ่งแวดล้อมและการให้ความสำคัญในการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 70-80%

          ขณะที่ในกลุ่มของบริษัทอสังหาริมทรัพย์และ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทก่อสร้างต่างๆ นั้น หากพูดถึงการเข้าถึงวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม หรือความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เชื่อว่าในปัจจุบันทุกบริษัททุกค่ายมีความตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน หรือมลพิษในสิ่งแวดล้อมกันหมดทุกค่ายแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ทำให้ดีมานด์ในกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่มีในปัจจุบันคือจำนวนวัสดุ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีค่อนข้างจำกัด product หรือสินค้าที่มีในตลาดยังไม่ครอบคลุมความต้องการในทุกกลุ่มวัสดุก่อสร้าง

          "ในวันนี้บริษัทอสังหาฯ แทบทุกแบรนด์ต่างเห็นภาพที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ทุกๆค่ายที่เราเข้าไปนำเสนอสินค้า ต่างมีการสอบถามว่าเรามี product ไหนบ้าง ที่ทำให้โครงการที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นได้รับการยอมรับและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะมีอุปสรรคในเรื่องของราคากรีนแมททีเรียล ซึ่งยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุก่อสร้างทั่วไปในตลาด ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พยายาม ผลักดันให้วอร์รูมในการผลิตสูงขึ้นเพื่อให้เกิด economy of scale ซึ่งจะทำให้ในอนาคตวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาที่ถูกลง และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยในปัจจุบันหากเทียบราคาวัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวัสดุก่อสร้างทั่วไป ราคาวัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงกว่า 10-20%"

          อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างอาคารหนึ่งอาคารนั้นต้องใช้วัสดุก่อสร้างนับพันไอเทม แต่วัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นมีบางไอเทม มีบาง เซกเมนต์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยด้วยว่าวัสดุก่อสร้างที่เคยว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นจริงๆ แล้ว มีความเป็นกรีนหรือดีต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือเปล่า หรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน ใช้แล้ว ตรวจสอบได้หรือไม่ หรือกระบวนการผลิตนั้นก่อให้เกิดขยะหรือไม่ ใช้แล้วนำกลับไปรีไซเคิลได้หรือเปล่า

          สำหรับคำว่ากรีนนั้นมีองค์ประกอบหลากหลาย เพราะฉะนั้นเรียกว่า Sustainability หรือความยั่งยืนน่าจะครอบคลุมกว่า เพราะกรีนไม่ใช่แค่วัสดุรีไซเคิล กับขยะเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง corporate government ของคนในองค์กรของคนในประเทศที่มีส่วนร่วมกัน เป็นเรื่องของสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดความ Sustainability ซึ่งต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ 1. Zero Emissions with Climate Action- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ลดโลกร้อนลดคาร์บอนในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด ตามธุรกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง 2. Zero Waste with Circular Economyของเสียเป็นศูนย์ด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน บริหารจัดการระบบห่วงโซ่ อุปทาน การกำจัดของเสียเป็นศูนย์ด้วยระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน และสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน 3. Zero Inequality with Social Responsibilityการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการรับผิดชอบต่อสังคม

          ทั้งนี้ การยอมรับความหลากหลายทางสังคม เป็นกลยุทธ์การจัดการโดยตระหนักถึงบทบาทสำคัญใน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน การดูแลใส่ใจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตขององค์กร

          การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ การมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และรูปแบบการลงทุนที่ปรับให้เหมาะกับองค์กรแต่ละแห่ง ดังนั้น องค์กรชั้นนำจำเป็นต้องคิดอย่างรอบด้าน ปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กรทั้งในด้านความเร็ว และปรับขนาดองค์กรให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ