ปธ.สิบล้อจี้กดดีเซลต่ำ30 ดักคอรบ.หาเสียงเลือกตั้ง
Loading

ปธ.สิบล้อจี้กดดีเซลต่ำ30 ดักคอรบ.หาเสียงเลือกตั้ง

วันที่ : 18 กุมภาพันธ์ 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 เป็นการฟื้นด้านอุปทานเป็นหลัก เพราะปี 2563-2564 หน่วยเปิดขายใหม่เกิดขึ้นน้อย หน่วยที่เหลือขายในตลาดก็ลดลง และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยในไตรมาส 1 และ 2 มีการเปิดตัวใหม่สูงมาก เพราะมีการเปิดตัวคอนโดราคาถูกจำนวนมาก และสามารถมียอดขายที่ดี
          รับปากทยอยลดค่าขนส่ง 'ทีเส็บ'รุกหนักตลาดไมซ์ ตั้งเป้านักเที่ยว18.5ล.คน

          สหพันธ์ขนส่งจ่อลดราคาย้ำเหมาะสมอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร ขณะที่เอกชนชี้ ศก.คึก 3 เดือนแค่ก่อน-หลังเลือกตั้ง ทุนเทาฉุดบ้านหรูชะลอ เผยปัจจัยลบยังท่วมตลาด 'ทีเส็บ'ดันตลาดไมซ์ไทย

          สหพันธ์ขนส่งขยับลดราคา

          เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเป็นครั้งที่สอง อยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร ซึ่งรอบแรกปรับตัวลดลงเหลือ 34.44 บาทต่อลิตร จากราคา 34.94 บาทต่อลิตร ว่า หากราคาน้ำมันปรับลดลงมาอยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร ถือว่าราคาน้ำมันดีเซลมีการ ปรับตัวลดลงประมาณ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งใน ข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการขนส่งและลูกค้า ได้ระบุชัดเจนว่าทุกการลดลงของราคาน้ำมัน 1 บาทต่อลิตร จะมีการลดค่าขนส่งลง แต่อาจยังไม่ได้ปรับลดลงมาสู่ราคาปกติ เพราะว่า สิ่งที่เราเสนอให้ลูกค้าคือ เราจะมีการปรับขึ้นลงราคาค่าขนส่งเป็นขั้นบันได

          บี้ดีเซลเหมาะสมอยู่ที่ลิตร30บ.

          "ส่วนราคาน้ำมันดีเซลที่เหมาะสมยังมองเช่นเดิม หรืออยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร และเชื่อว่ารัฐบาลสามารถดึงราคาน้ำมันลงมาได้ เหมือนเมื่อก่อน หรือช่วง 7-8 เดือนที่แล้ว ที่อยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อลิตร ถ้าทำได้ก็จะช่วยชะลอความเดือดร้อน ช่วยเยียวยาได้ แต่ในมุมของรัฐบาลกลับมองว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นแล้ว คนเริ่มกลับมาใช้จ่ายแล้ว แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ ประชาชนส่วนใหญ่ยังระวังตัวในการใช้จ่ายอยู่" นายอภิชาติกล่าว

          นายอภิชาติกล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงเข้าโหมดเลือกตั้งแล้ว จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงมา เพียงเพราะต้องการให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในตัวรัฐบาลหรือไม่ แต่มองในอีกมุมหนึ่งถือว่าดี แต่ถ้าจะปรับลดราคากันจริงๆ ก็ควรปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงให้มากกว่านี้ แต่รัฐบาลอ้างว่า ก็ที่ยังไม่สามารถปรับลดราคาน้ำมันลงไปมากกว่านี้ได้ เนื่องจากต้องนำเงินส่วนนี้ เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ยังติดลบอยู่กว่าแสนล้านบาท แต่ทางผู้ประกอบการก็เข้าใจในส่วนนี้ แต่ไม่อยากให้รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนทีเดียว 100% อยากให้เก็บเพียง 50% ก่อนเพื่อช่วยให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงให้ได้มากกว่านี้ต่อไป

          เอสเอ็มอีหนุนไฟ4บาท

          นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงข้อเสนอภาคเอกชนต่อการปรับลดค่าไฟภาคธุรกิจใช้มาใกล้เคียง 4 บาทต่อหน่วยว่า เห็นด้วยที่หน่วยงานด้านผลิตไฟฟ้าและรัฐบาลจะทบทวนและทยอยลดค่าไฟภาคธุรกิจ เพราะไม่แค่ช่วยลดภาระต้นทุนภาคธุรกิจแต่ไปเกี่ยวข้องกับต้นทุนในทุกมิติ ทั้งคู่ค้าทางธุรกิจ และประชาชนที่จะได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้ลดลง ซึ่งค่าไฟขึ้นมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน รายย่อยที่ยังมีรายได้ไม่เท่าเดิมและสภาพคล่องต่ำ โดยเฉพาะภาคบริการเป็นภาระที่หนักมาก

          "ตอนนี้ต้นทุนพลังงานเริ่มลดลง หากหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงหาช่องทางปรับอัตราค่าไฟอยู่ในเกณฑ์ที่ภาคเอกชนอยู่ในภาวะตึงตัวน้อยลง เราอยากเห็นการปรับลดค่าไฟในด้านลดลงได้เร็วและเท่ากับตอนปรับขึ้น ช่วงปรับลดดูเหมือนช้ากว่าช่วงปรับขึ้น" นายแสงชัยกล่าว

          แนะรัฐลดยอดบัตรคนจน

          นายแสงชัยกล่าวถึงโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ว่า บัตรคนจนควรมีอยู่ แต่เฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ไม่อาจทำงานได้ตามปกติ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภัยธรรมชาติ โดยในแต่ละปีควรมีการคัดกรองเพื่อลดจำนวน และปรับการใช้งบที่แจกผ่านบัตรคนจนไปเป็นการสร้างอาชีพและทักษะให้กับผู้ที่ถูกคัดกรองออกในแต่ละปี เพื่อให้คนเหล่านั้นมีอาชีพและรายได้ยั่งยืน อีกทั้งเป็นการลดภาระงบประมาณ

          "อยากให้รัฐตั้งเป้าไปเลยว่าแต่ละปีจะลดจำนวนบัตรคนจนเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ ควรลดอย่างไร ทำคู่กับการสร้างอาชีพให้คนว่างงาน ตกงาน หรือต้องการเปลี่ยนอาชีพ วันนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนบัตรคนจน คุยกับธุรกิจด้วยกัน เห็นเหมือนกันว่าควรลดจำนวน ไม่ใช่เพิ่มจำนวน เพราะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ประเทศไทย อยากให้เขาเห็นว่าไทยมีคนจนลดลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้น มีผลต่อภาพพจน์การเข้ามาลงทุน มาทำการค้าในระยะยาว แรงงานมีคุณภาพมีทักษะรองรับการลงทุนต่างชาติได้ ประชานิยมแจกเงินน่าจะปรับเปลี่ยนได้แล้ว จากนี้ประเทศจะแข่งขันเรื่องภาพพจน์กันมากขึ้น เพื่อจูงใจทุนต่างชาติ เรื่องสร้างความพร้อมคน มาตรการ และหน้าตาประเทศสำคัญ" นายแสงชัยกล่าว

          เพิ่มช่องทางแอพพ์ 'เป๋าตัง'

          น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอี แบงก์ เปิดเผยว่า เอสเอ็มอี แบงก์ ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เดินหน้ายกระดับบริการผ่านระบบดิจิทัล สนับสนุนลูกค้าธนาคารและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้รับความสะดวกสบาย เข้าถึงบริการด้านเงินทุนและการพัฒนาของเอสเอ็มอี แบงก์ได้ง่าย รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา และปลอดภัย โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้บริการระบบของเอสเอ็มอี แบงก์ในแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ที่เป็นแพลตฟอร์มมีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน มากที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นบริการเพิ่มเติมควบคู่กับช่องทางประจำต่างๆ ที่ธนาคารมีอยู่แล้ว

          น.ส.นารถนารีกล่าวว่า สำหรับบริการของเอสเอ็มอี แบงก์ในแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" จะเริ่มเปิดให้บริการระยะแรก (เฟสที่ 1) ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นไป เบื้องต้นมีเมนูสำคัญ ได้แก่ 1.บริการสามารถเรียกดูรายการชำระสินเชื่อย้อนหลัง (Loan Payment History) สูงสุด 6 เดือน สำหรับลูกค้า กลุ่มบุคคลธรรมดา 2.บริการชำระค่างวดสินเชื่อ (Loan Payment) ของลูกค้ากลุ่มบุคคลธรรมดา และ 3.บริการข้อมูลข่าวสารผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และงานพัฒนาจากเอสเอ็มอี แบงก์ ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการ "ความรู้คู่เงินทุน" เสริมศักยภาพธุรกิจเดินหน้าได้ต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด นอกจากนั้น ในอนาคตเอสเอ็มอี แบงก์ จะขยายบริการใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น การแจ้งเตือนบริการ ตรวจข้อมูลเครดิตบูโร และสมัครขอสินเชื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ เอสเอ็มอี แบงก์เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกนอกเหนือจากธนาคารกรุงไทยที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" สร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงบริการด้านการเงินและการพัฒนาของ เอสเอ็มอี แบงก์ได้ง่าย สะดวกสบาย รวดเร็ว สนับสนุนให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพ คว้าโอกาสเติบโตเต็มศักยภาพจากกำลังซื้อภายในประเทศและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัว

          ชี้ศก.คึก3ด.แค่ก่อน-หลังเลือกตั้ง

          นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจากการที่จะมีเลือกตั้งใหม่ ในทุกครั้งจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเงินสะพัดช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง 3 เดือน ทั้งนี้ มองว่าผลการเลือกตั้งใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นสากล ทำให้ภาคเอกชนและต่างชาติมีความเชื่อมั่น แต่ในระยะยาวต้องดูเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ จะมั่นคงแค่ไหน ถ้าเสถียรภาพดี รัฐบาลเป็นปึกแผ่น คะแนนเสียงท่วมท้น ความเชื่อมั่นการลงทุนจะมาก แต่ถ้ารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะล้มเมื่อไหร่ก็ได้ ตรงนี้จะลำบากทำให้ความเชื่อมั่นลดลงไป

          "ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้เป็นอันดับแรก คือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้องและอำนาจซื้อของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มระดับรากหญ้า เพราะที่บอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นกลุ่มระดับกลาง-บน ช่วงโควิดระดับกลางก็แย่ มีแต่ระดับบนที่ลอยตัว พอเศรษฐกิจ ผงกหัวระดับกลางจะดีขึ้น แต่ระดับล่างยังลำบาก เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง การฟื้นตัวจะช้ากว่ากลุ่มอื่น ส่วนเรื่องค่าแรงมันจะขึ้นก็ต้องขึ้น แต่ค่าไฟเป็นต้นทุนที่สำคัญ ถ้าปรับลดลงจะดีขึ้น" นายวงศกรณ์กล่าว

          นายวงศกรณ์กล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง อยากให้รัฐบาลปลดล็อกปัญหาเดิมๆ ที่กลับมาใน ปีนี้ ไม่ว่าการไม่มีการผ่อนปรนมาตรการ LTV ธนาคารมีการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ การลดค่าธรรมเนียมการโอนเพียง 1% อยากให้รัฐทบทวนมาตรการเหล่านี้ใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะมาตรการ LTV เพราะการซื้อบ้านหลังที่ 2 ไม่ใช่การฟุ่มเฟ่อยและซื้อเก็งกำไร คนที่ซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมมีความจำเป็น เพราะบ้านอยู่ชานเมืองและซื้อใกล้โรงเรียนลูก รวมถึงอยากให้พิจารณาให้ธนาคารของรัฐและพาณิชย์ปล่อยกู้ได้มากขึ้น

          ทุนเทาฉุดตลาดบ้านหรูชะลอ

          "ขณะนี้จากกรณีของทุนจีนสีเทา ทำตลาดบ้านหรูชะลอตัว ลูกค้าใหม่ชะลอการตัดสินใจซื้อไป คาดว่ากลางปีนี้จะกลับมาปกติ ซึ่งกระทบยอดขายเพอร์เฟคชะลอตัวไปบ้าง ก็ต้องปรับตัวเน้นลูกค้าคนไทยมากขึ้น เพราะจากเศรษฐกิจในประเทศเราเริ่มฟื้นแล้ว หลังสลบไป 3 ปี ทำให้คนมีเงินเก็บและเป็นเรียลดีมานด์ กลับมาซื้อบ้านราคามากขึ้นและซื้อเป็นเงินสด" นายวงศกรณ์กล่าว

          ปี'66อสังหาฯหดตัวยกแผง

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2565 เป็นการฟื้นด้านอุปทานเป็นหลัก เพราะปี 2563-2564 หน่วยเปิดขายใหม่เกิดขึ้นน้อย หน่วยที่เหลือขายในตลาดก็ลดลง และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยในไตรมาส 1 และ 2 มีการเปิดตัวใหม่สูงมาก เพราะมีการเปิดตัวคอนโดราคาถูกจำนวนมาก และสามารถมียอดขายที่ดี ขณะที่บ้านจัดสรรเป็นที่ต้องการของตลาดมีการเปิดตัวอย่างต่อเนื่องและมีความคึกคัก และมีปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยต่ำ กู้ได้มากจากการผ่อนปรน LTV ราคายังไม่ขึ้น เศรษฐกิจเริ่มดี ขณะที่การฟื้นตัวฝั่งอุปสงค์อาจจะยังไม่แข็งแรง แต่มีการขยายตัวได้จากแรงกดดันที่เกิดจากการที่จะสิ้นสุดการผ่อนปรน LTV อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และค่าธรรมเนียมการโอนที่ลดลงเหลือ 0.01% จึงมีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ช่วงไตรมาส 3 และ 4 ที่เป็นการดึงจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ในอนาคตมา อาจส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2566 ชะลอตัวลงได้ อาจทำให้จำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์มีโอกาสลดลงจากปี 2565 ถึง 10.2% และ 4.5% ตามลำดับ

          นายวิชัยกล่าวว่า ทิศทางตลาดอสังหาฯปี 2566 คาดการณ์ด้านอุปทานทรงตัวถึงชะลอเล็กน้อย เนื่องจากได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วปี 2564 โดยหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศ จะมี 78,269 หน่วย เพิ่ม 0.3% ขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย มี 300,228 หน่วย ลบ 8.4% ประกอบด้วยแนวราบ 246,504 หน่วย และอาคารชุด 53,724 หน่วย ด้านเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คาด 98,132 หน่วย ลบ 2.1% ประกอบด้วยบ้านจัดสรร 58,046 หน่วย เพิ่ม 19.4% อาคารชุด 40,086 หน่วย ลบ 22.4%

          นายวิชัยกล่าวว่า ด้านอุปสงค์คาดจะปรับตัวลดลง มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 352,761 หน่วย ลบ 10.2% มีมูลค่า 1,016,838 ล้านบาท ลบ 4.5% แบ่งเป็นแนวราบ 264,571 หน่วย ลบ 7.4% มูลค่า 753,628 ล้านบาท ลบ 2.9% อาคารชุด 88,190 หน่วย ลบ 17.7% มูลค่า 263,210 ล้านบาท ลบ 8.8% คาดว่าจะกระทบยอดการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง จะส่งผลให้ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศปี 2566 รวม 650,764 ล้านบาท ลบ 6.8% และมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศ 4,955,985 ล้านบาท เพิ่ม 4.5% แทียบกับปี 2565

          ปัจจัยลบยังท่วมตลาด

          "ปี 2566 ยังมีปัจจัยลบต่อตลาดในหลายด้าน ตั้งแต่ไม่ผ่อนปรน LTV จะกระทบต่อคนที่ต้องการมีการซื้อบ้านและการลงทุนหลังที่ 2 และ 3 ที่มีสัดส่วน 30% และมาตรการกระตุ้น อสังหาฯของรัฐบาลที่ลดค่าโอนเพียง 1% ประกอบกับปีนี้เป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่อาจจะสูงขึ้นถึง 0.75-1% และราคาที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะปรับตัวราคาขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากส่วนลดและของแถมที่น้อยลง จึงคาดปี 2566 ดัชนีรวมตลาดอสังหาฯมีแนวโน้มปรับตัวลงจากปีก่อน -1.6% และหากมีปัจจัยบวกที่ดีกว่าที่คาดไว้อาจจะมีการขยายตัวได้ถึง 8.2% แต่หากมีปัจจัยที่ส่งผลรุนแรงกว่าที่คาดไว้ อาจจะติดลบได้ถึง -11.5%" นายวิชัยกล่าว

          ทีเส็บดันไทยฮับจัดประชุมโลก

          นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังจากการระบาดโควิด-19 คลายตัว หลายประเทศเปิดการเดินทางได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงไทยที่เปิดประเทศท่องเที่ยวแล้ว ทำให้อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลก มีแนวโน้มที่ดีในการฟื้นตัวกลับมา โดยทีเส็บได้ดึงงานประชุมสัมมนา และงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น และเป็นงานระดับโลกมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายที่วางไว้ อาทิ งานฟินเทค Money 20/20 จัดขึ้นในเมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ และลาสเวกัส สหรัฐ ถือเป็นงานฟินเทคที่ใหญ่ที่สุด โดยทีเส็บมีแผนปฏิบัติการ 5 ปี (2566-2570) ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go ด้วยความ มุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ด้วยนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืนร่วมกัน พร้อมกับผลักดันแคมเปญปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ 2566 (Thailand MICE to Meet You Year 2023) เร่งกระตุ้นการจัดงาน สร้างรายได้กระจายสู่ภูมิภาคต่างๆ ฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วประเทศ

          นายจิรุตถ์กล่าวว่า แผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์และผลักดันไทยเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์โลก จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ 1.T: Thailand As Global MICE Leader มุ่งผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำจัดกิจกรรมไมซ์ระดับโลก เพื่อเพิ่มรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมสร้างพันธมิตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ 2.C: Create Destination Competitiveness Through Diverse Local Identity ยกระดับศักยภาพการรองรับกิจกรรมไมซ์ในแต่ละพื้นที่ ด้วยการสร้างความหลากหลายของอัตลักษณ์ในพื้นที่และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชน ตลอดจนเครือข่ายในท้องถิ่น 3.E: Execute Innovative MICE Solution การส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและนวัตกรรมด้าน การบริการไมซ์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไมซ์ไทยบนเวทีโลก 4.B: Build Agile and High Performance Organization มุ่งสู่การเป็นองค์การสมรรถนะสูงที่คล่องตัวและทันโลก และ 5.Go: Go for MICE Sustainability พลิกโฉมไมซ์ไทยด้วยความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้จุดหมายปลายทางไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับนานาชาติ

          เป้าฟันรายได้เข้าไทยกว่าแสนล.

          นายจิรุตถ์กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 ถึงกันยายน 2566) เน้นไทยเป็นศูนย์กลางจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก โดยการประมูลสิทธิงานระดับโลกมาจัดในไทย อาทิ งาน World Congress of Nephrology วันที่ 30 มีนาคม-2 เมษายน รวมถึงเน้นงานแสดง

          สินค้าภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (12 S-Curve) อาทิ งาน VIV Asia 2023 & Meat Pro Asia 2023 วันที่ 8-10 มีนาคมนี้ หรืองานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ในส่วนของการประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล มีนักเดินทางไมซ์ที่ยืนยันการเข้ามาจัดงานในไทย ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤศจิกายนกว่า 80,000 คน จากกลุ่มเอเชียแปซิฟิกและอื่นๆ กว่า 50,000 คน และจีนกว่า 30,000 คน  ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานปี 2566 คาดมีนักเดินทางไมซ์ 18,550,000 คน สร้างรายได้ 109,000 ล้านบาท จากต่างชาติ 760,000 คน รายได้ 50,000 ล้านบาท และในประเทศ 17,790,000 คน รายได้ 59,000 ล้านบาท ส่วนแผนปฏิบัติการ 5 ปี คาดการณ์เพิ่มจำนวนนักเดินทางไมซ์กว่า 160 ล้านคน สร้างรายได้รวมกว่า 945,000 ล้านบาท

          สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยไตรมาส 1/2566 (ตุลาคม-ธันวาคม 2565) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวม 7,934,099 คน สร้างรายได้ 28,528 ล้านบาท จากต่างชาติ 183,618 คน สร้างรายได้ 12,028 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มงานแสดงสินค้า 97,015 คน ทำรายได้สูงสุด 6,876 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กร 55,687 คน รายได้ 3,238 ล้านบาท กลุ่มประชุมวิชาชีพ 17,653 คน รายได้ 1,063 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล 13,263 คน รายได้ 851 ล้านบาท ด้านนัก เดินทางไมซ์ในประเทศรวม 7,750,481 คน สร้างรายได้ 16,500 ล้านบาท มีกลุ่มงานแสดงสินค้าเป็นตลาดใหญ่สุด 7,308,525 คน สร้างรายได้ 14,815 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพ 304,826 คน รายได้ 1,109 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กร 129,054 คน รายได้ 537 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล 8,076 คน รายได้ 39 ล้านบาท