คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน: REIC ฟันธงอสังหาฯ 2566 หดตัว
Loading

คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน: REIC ฟันธงอสังหาฯ 2566 หดตัว

วันที่ : 24 กุมภาพันธ์ 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ดีมานด์บ้านและคอนโดฯ ปี 2566 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง 86-87% ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นอีก 0.75-1% และมาตรการ LTV ทำให้ความสามารถในการซื้อลดลงในกลุ่มคนที่ซื้อหลังที่ 2 และ 3 ซึ่งจะส่งผลให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง นับเป็นจำนวนหน่วยลด 10.2%
          นาย ต.

          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดการณ์ว่าในปี 2566 ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงจากปี 2565 เล็กน้อย

          แยกเป็น 3 ความเป็นไปได้ คือ

          1. กรณีฐาน (Base Case) ที่มีความเป็นไปได้โดยพื้นฐาน จะปรับตัวลดลงจากปี 2565 เล็กน้อย 1.6%

          2. กรณีมีปัจจัยบวกดีกว่าที่คาดไว้ (Best Case) อาจขยายตัวได้ 8.2%

          และ 3. กรณีมีปัจจัยลบรุนแรงกว่าที่คาดไว้ (Worst Case) อาจจะติดลบได้ถึง 11.5%

          ดีมานด์บ้านและคอนโดฯ ปี 2566 ที่มีแนวโน้มลดลงนั้น เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง 86-87% ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นอีก 0.75-1% และมาตรการ LTV ทำให้ความสามารถในการซื้อลดลงในกลุ่มคนที่ซื้อหลังที่ 2 และ 3 ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30%

          ซึ่งจะส่งผลให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง นับเป็นจำนวนหน่วยลด 10.2% เหลือ 352,761 หน่วย นับเป็นมูลค่าลดลง 4.5% เหลือประมาณ 1.01 ล้านบาท

          นอกจากนี้ ดร.วิชัยยังกล่าวด้วยว่า การที่บริษัทพัฒนาอสังหาฯ หันมาเปิดโครงการบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปพร้อมๆ กันจำนวนมากนั้น ทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายขึ้นได้ เพราะตลาดบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปเป็นตลาดขนาดเล็ก

          จากข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ปี 2565 บ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไปมีสัดส่วนจำหน่วยหน่วยเพียง 2.5% จากตลาดรวม 100,269 หน่วย และ 18.7% ของมูลค่าตลาดรวม 529,121 ล้านบาท

          การออกมาฟันธงของศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ (REIC) เป็นการฟันธงสวนกระแสตลาดอสังหาฯ ขณะนี้อย่างตรงไปตรงมาเลยดีเดียว

          เพราะตลาดอสังหาฯ หลังพ้นการแพร่ระบาดโควิดในปี 2565 ยอดรวมทั้งตลาดก็ทำลายสถิติสูงสุดปี 2562 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดก่อนโควิด ยอดขายยอดโอนของบริษัทต่างๆ พุ่งขึ้นสูงทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่น

          ทำให้ความมั่นใจสูง การวางเป้าหมายและแผนงานของบริษัทอสังหาฯ ปี 2566 ทั้งยอดขาย การเปิดตัวโครงการใหม่ จึงสูงกว่าปี 2565 ที่ว่าสูงแล้วขึ้นอีก

          ผลประกอบการจริงๆ ธุรกิจอสังหาฯ งวดสิ้นปี 2566 จะเป็นอย่างไร เป็นไปตามผู้ประกอบการคาดหวังไว้ในเป้าหมายและแผนงาน หรือเป็นไปตามการคาดการณ์ของศูนย์ข้อมูล ซึ่งด้านผู้ประกอบการมีจุดแข็งที่เกาะติดอยู่กับสถานการณ์ตลาดทุกวัน

          แต่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เองก็ได้พัฒนาโมเดลการพยากรณ์แนวโน้มตลาดอสังหาฯ เสร็จสมบูรณ์เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา

          สุดท้ายจะเป็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือแปรเปลี่ยนตั้งแต่นี้ไปจนถึงสิ้นปี 2566

          ซึ่ง ณ ขณะนี้ ปัจจัยลบได้แก่ หนี้ครัวเรือนเกือบ 90% ที่ทำให้คนซื้อกู้แบงก์ไม่ผ่าน, มาตรการ LTV จำกัดกำลังซื้อ, อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอีก 0.75-1% เพิ่มภาระการผ่อน และการส่งออกของประเทศยังย่ำแย่

          ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเร็วและมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ธุรกิจและคนทำงานเกี่ยวกับท่องเที่ยวรายได้ดีขึ้น

          จะว่าไปแล้ว ปัจจัยบวกและลบทั้งหลายเหล่านี้เกินกำลังที่ผู้ประกอบการเอกชนจะบริหารจัดการได้ เป็นบทบาทหน้าของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ผู้กำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่จะมีผลต่อธุรกิจเศรษฐกิจ

          การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ จะทำให้มีความหวังขึ้นมาได้ไหม
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ