ตลาดอสังหาฯ Q1/66 ยังบวก
Loading

ตลาดอสังหาฯ Q1/66 ยังบวก

วันที่ : 22 พฤษภาคม 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสนี้ เมื่อพิจารณาที่มาของการลดลงพบว่า มีความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการยอดขาย การลงทุน และการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ ที่ลดลงระหว่าง -10.8 ถึง -3.5 จุด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.
          AP แชมป์รายได้ - แสนสิริแชมป์กำไรสูงสุดTOP10อสังหาฯ กินแชร์ตลาดมากกว่า80%

          อสังหาริมทรัพย์

          ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างคาดการณ์กันว่าไตรมาสแรกปี2566 ตลาดจะฟืนตัวดีขึ้น จากปัจจัยหนุนภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแรง ประกอบกับการฟืนตัวทางเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องจากปี 2565 อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดอสังหาฯที่ปรากฏในไตรมาสแรกปี 2566 นี้ ดูเหมือนจะไม่เป็นไปดังที่หลายๆ คนหวังไว้

          โดยรายงานดัชนีความเชื่อมั่น ซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ได้ทำการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปริมณฑล ในไตรมาส 1/2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 46.7 ซึ่งลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.5 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 47.1 ก็มีความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อยเช่นกัน

          ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสนี้ เมื่อพิจารณาที่มาของการลดลงพบว่า มีความเชื่อมั่นในด้านผลประกอบการ ยอดขาย การลงทุน และการเปิดโครงการใหม่และ/หรือเฟสใหม่ ที่ลดลงระหว่าง -10.8 ถึง -3.5 จุด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยมีการประกาศเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 66 ที่ขึ้น 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี และ ต่อมาในวันที่ 28 มี.ค. 66 ขึ้นอีก 0.25% ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 1.75%

          อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนผลประกอบการที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.7 จุด สะท้อนว่า ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนการประกอบการ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากมีการปรับตัวคงที่ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากภาพรวมต้นทุนยังคงสูงอยู่ ทำให้ระดับความเชื่อมั่นยังต่ำกว่า 50% ต่อเนื่องมามากกว่า 5 ไตรมาส

          ค่าดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวสอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจของ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom หรือ LWS) พบว่า 38 บริษัทอสังหาฯ ทีจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสแรกปี 2566 มีรายได้รวม และกำไรเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่คาดการณ์กันไว้ โดยมีรายได้รวมอยู่ ที่ 73,712.77 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,699.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.84% และ 18.71% ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565 โดยมีความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 11.80% ลดลงจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งมีกำไรเฉลี่ยที่ 13.28%

          ทั้งนี้ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในท็อป 5 อสังหาฯ รายใหญ่ของเมืองไทย ที่ต้องประสบกับปัญหาการลดลงของกำไรสุทธิในไตรมาสแรก โดยในไตรมาส1/2566 นี้ "ศุภาลัย" มีรายได้รวมที่ 5641.42 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 269.18 ล้านบาทหรือมีรายได้เพิ่มขึ้น 5%  โดยสาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ของ ศุภาลัย เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก เนื่องจากสามารถโอนกรรมสิทธิ์โครงการแนวราบได้เพิ่มขึ้น

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 815.26 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 98.07 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14%  มีผลให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกนี้ลดลง โดยไตรมาส 1/2566 นี้ ศุภาลัยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,080.41 ล้านบาท ลดลง 97.41 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นอัตราการลดลง 8% ถึงแม้ว่ารายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นก็ตาม

          ขณะที่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือ ANAN เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของกำลังซื้อและการชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา อนันดาฯมีรายได้รวม 731.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.2 ล้านบาทหรือลดลง 6.1% โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของรายได้จากการขายอสังหาฯ 62.3 ล้าน บาท คิดเป็น 13% และรายได้จากการบริหารโครงการและค่านายหน้าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.5 ล้านบาทหรือลดลง 9.5%

          ทำให้ในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ อนันดาฯยังคงมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีผลขาดทุน 53 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 78.3% จากที่ปีก่อนหน้ามีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม 191.5 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนมาจากส่วนแบ่งจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า หรือโครงการร่วมทุน 294 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 352.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% เนื่องจากสามารถเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนโครงการไอดีโอจุฬา-สามย่าน ในช่วงปลายไตรมาสและการโอน ต่อเนื่องของโครงการไอดีโอพระรามเก้า-อโศก

          อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 อนันดาฯ ยังคงมีพร้อมในการเดินหน้าขยายธุรกิจอสังหาฯ ทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบ โดยการเปิดตัวโครงการใหม่ 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการในระดับ แฟลกชิป มูลค่ากว่า 14,600 ล้านบาท และความพร้อมสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์โครงการไอดีโอ จุฬา-สามย่านที่สามารถเริ่มให้ลูกค้าเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์ได้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตตามเปาหมายที่วางไว้

          ภาพการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ ที่สวนทางกับกำไรสุทธิของบริษัทอสังหาฯในไตรมาส 1/2566 นี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ปัญหาการชะลอตัวของกำลังซื้อ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกมาตรการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคให้เร็วขึ้น โดยการออกแคมเปญต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อต้นทุนการขายที่เพิ่มตามไปด้วย   ขณะที่สถานการณ์ด้านสต๊อกที่อยู่อาศัยในตลาดรวมนั้น พบว่าสินค้าคงเหลือที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 3.66%  เมื่อเทียบไตรมาสต่อก่อนหน้า โดยสินค้าคงเหลือเมื่อนับรวมกับสินค้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 38 บริษัท พบว่ามีอยู่กว่า 626,535.06 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3.66% เมื่อเทียบกับปลายปี 2565

          เอพีฯ แชมป์รายได้สูงสุด - แสนสิริ แชมป์กำไรสูงสุด

          ในขณะที่ หลายบริษัทประสบปัญหาด้านยอดขายและกำไรลดลง แต่ในฝั่งของ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP ซึ่งในช่วง 2-3 ปีนี้กลายเป็นบริษัทที่มีอัตราการขยายตัวดีทั้งในส่วนของรายได้และกำไรสุทธิ โดยในไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ "เอพี ไทยแลนด์" ยังคงเป็นบริษัทอสังหาฯที่มีรายได้รวมสูงสุดเมื่อเทียบกับ 38 บริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีรายได้รวมไตรมาสแรก 2566 ที่ 9,441.41 ล้านบาท ลดลง 13.04% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565

          โดย นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถสร้างรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 11,805 ล้านบาท  และสามารถทำกำไรสุทธิ 1,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 1,154 ล้านบาท เท่ากับ 28% และมีสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.66 เท่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการบริหารจัดการสัดส่วนหนี้สินสุทธิในระดับที่ไม่เกิน 1 เท่า

          "การปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ เอพี ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา คือ สินค้ากลุ่มแนวราบอย่าง ทาวน์โฮม และบ้านเดี่ยวยังถือเป็นคีย์ไดรฟ์สำคัญในการเติบโตทางรายได้และกำไรอย่างแข็งแกร่ง โดยรายได้ที่เกิดขึ้นมาจากสินค้าแนวราบคิดเป็นมูลค่า 8,657 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% ของสัดส่วนรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งมีบ้านเดี่ยวแบรนด์ THE CITY เป็นกำลังหลักหนุนสร้างรายได้รวมในกลุ่มแนวราบ"

          ขณะที่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ Siri นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่สามารถสร้างสถิติด้านกำไรสุทธิ โดยในไตรมาส1/2566นี้ แสนสิริ มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 1536.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 461.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ แสนสิริ เป็นผลมาจากการรับรู้ รายได้จากการขายอสังหาฯในไตรมาสแรกของปี 2565 จำนวน 623.09 ล้านบาท

          โดย นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เผยว่าไตรมาสแรกปี 2566 แสนสิริมีรายได้รวมในไตรมาสแรกปี2566 อยู่ที่ 8,505 ล้านบาท โตขึ้น 63% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผลงานมาจากรายได้จากการขายโครงการที่โดดเด่นในทุกกลุ่มที่อยู่อาศัย นำด้วยรายได้จากการขายคอนโดมิเนียม ที่ในไตรมาสนี้เติบโตสูงสุดถึง 217% หรือทำรายได้ 2,717 ล้านบาท รายได้หลักมาจากโครงการเอ็กซ์ที พญาไทที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มมีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือน ธ.ค. 2565

          นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายโครงการแนวราบ โดยเฉพาะการขายโครงการทาวน์โฮม เติบโตขึ้นถึง 104% พร้อมกันนี้ยังสร้างผลงานในโครงการที่อยู่อาศัยแบบมิกซ์โปรดักต์ ที่รวมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในโครงการเดียว ตอบรับแนวคิดการอยู่อาศัยแบบ Feel Just Right ความพอดีที่ลงตัวภายใต้แบรนด์ "อณาสิริ" ที่สร้างรายได้ที่โดดเด่นต่อเนื่องในปีนี้เช่นเดียวกันขณะที่กำไรขั้นต้นจากการขายโครงการที่อยู่อาศัยยังคงสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ประกอบกับในไตรมาสนี้ แสนสิริมีการบันทึกกำไรจากการขายกิจการโรงเรียนสาธิตพัฒนา และการเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าและบริษัทร่วม ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2566 เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

          ท็อป 10 อสังหาฯกินแชร์ 82.88%

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีอยู่กว่า 38 บริษัท แต่หมากมองในด้านส่วนแบ่งการตลาดแล้วจะพบว่ากว่า 80% ของรายได้รวมบริษัทอสังหาฯจะอยู่ในมือของบริษัทอสังหาฯรายใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์10อันดับแรก ประกอบด้วย บมจ. เอพี (ไทยแลนด์), บมจ.แสนสิริ, บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง, บมจ.ศุภาลัย, บมจ.เอสซี แอสเสท, บมจ.ออริจ้นท์ ดีเวลลอปเม้นท์, บมจ.เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้, บมจ.สิงห์ เอสเตท และบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค

          ทั้งนี้ หากไม่นับ3อันดับแรก บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) คือบริษัทอสังหาฯที่สร้างผลงานได้ดีที่สุดในไตรมาสแรก โดยไตรมาส1/2566 พฤกษาฯ มีอัตราการเติบโตตามแผนธุรกิจมากที่สุด ทั้งรายได้จากภาคอสังหาฯ และธุรกิจเฮลท์แคร์ รวมถึงการบริหารต้นทุนและการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพฤกษาฯสามารถทำกำไรสุทธิ 652 ล้านบาท เติบโต 18% มีรายได้รวม 6,598 ล้านบาท เติบโต 10% ทำอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นที่ 32.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 29.7%

          โดยในส่วนของธุรกิจอสังหาฯ  มีรายได้ 6,030 ล้านบาท เติบโต 6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 จากการโอนคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2565 อย่างต่อเนื่อง 6 โครงการ และมียอดขาย 4,466 ล้านบาท ซึ่งการเปิดขายโครงการแชปเตอร์ วัน ออล รามอินทรา ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สร้างกระแสตอบรับจากลูกค้าไทยและต่างชาติได้เป็นอย่างดี ทำยอดขายไปได้ราว 50%

          ขณะที่ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เป็นอีกหนึ่งบริษัทอสังหาฯ ที่มีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมา1/66 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคอนโดฯ และบ้านจัดสรรรวม 4,430 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา 31% รวมโครงการที่อยู่ภายใต้กิจการร่วมค้า (JV) ที่ทยอยสร้างเสร็จและรับรู้รายได้แล้วกว่า 2,279 ล้านบาท

          ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 798 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 8% มาจากทั้งกลุ่มธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ในเครือ อาทิ ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income Business) ที่เปิดดำเนินงานแล้วจำนวน 5 โครงการในปี 2565 และมีโครงการก่อสร้างเสร็จใหม่ และทยอยรับรู้รายได้เป็นครั้งแรกอีก 1 โครงการ จำนวนห้องพักรวม 411 ห้อง ได้แก่ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีทส์ แบงค็อก สุขุมวิท (Staybridge Suites Bangkok Sukhumvit) ภายใต้บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด (มหาชน)

          ส่วนในด้านของกำไรจากการดำเนินงานนั้น ยังคงเป็นกลุ่มบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 12 บริษัทแรกที่มีแชร์ ตลาดรวมมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อพิจารณาท็อป 12 บริษัทอสังหาฯพบว่า บริษัทที่มีกำไรสูงสุด โดยมีกำไรรวมในไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 9217.96 ล้านบาทสูงกว่ากำไรของ 38 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำไรรวมในไตรมาสแรกปี 2566 ที่ 8,699.16 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมา จากมีบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนทั้งสิ้น 13 บริษัททำให้กำไรรวมของทั้งสาม 18 บริษัทมียอดรวมต่ำกว่า 12 บริษัทอสังหาฯ