อสังหาปี'67 ตึงตัว บ้านหรู - ต่ำ3ล.อืด
Loading

อสังหาปี'67 ตึงตัว บ้านหรู - ต่ำ3ล.อืด

วันที่ : 17 กุมภาพันธ์ 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 แนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ แบงก์เข้มงวด ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางถึงราคาต่ำ ให้กลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ภาวะทรงตัวในทิศทางลดลง ส่งผลมีหน่วยเหลือขายสะสมมากขึ้น
              นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ปี 2566 เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง 90.9% ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่ออุปสงค์ความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยและขอสินเชื่อลดลง พบว่าจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศมี 366,825 หน่วย ลดลง 6.6% มูลค่า 1.05 ล้านล้านบาท ลดลง 1.7% ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่มี 678,347 ล้านบาท ลดลง 2.8% พิจารณาระดับราคาที่มีโอนกรรมสิทธิ์บ้านใหม่และบ้านมือสอง ลดลงทุกระดับราคา ที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ลดลง 1.7-9.8% มากสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 2.01-3 ล้านบาท แต่ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ขยายตัวทุกระดับราคา 1.9-11.9%

             นายวิชัยกล่าวว่า ส่วนใหญ่การชะลอตัวของอุปสงค์ เป็นระดับรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ส่งผลต่อการปรับตัวของอุปทานที่อยู่อาศัยในระบบ ผู้ประกอบการเบนเข็มจับตลาดราคาแพงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล บ้านเดี่ยวเปิดตัว 18,520 หน่วย มูลค่า 269,533 ล้านบาท บ้านแฝด 9,609 หน่วย มูลค่า 56,747 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์เปิดตัวใหม่ลดลง 22.1% โดยเปิดตัว 20,427 หน่วย และมูลค่า 69,679 ล้านบาท ลดลง 26.3% อาคารชุดเปิดตัว 47,800 หน่วย ลดลง 14.5% แต่มูลค่าสูง 196,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.9% ทำให้ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ 2566 มี 96,813 หน่วย ลดลง 11.4% มูลค่า 597,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7%

           "ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 แนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังเผชิญความเสี่ยงหลายอย่าง รวมถึงไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ แบงก์เข้มงวด ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางถึงราคาต่ำ ให้กลุ่มราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ภาวะทรงตัวในทิศทางลดลง ส่งผลมีหน่วยเหลือขายสะสมมากขึ้น ต้องระมัดระวังเปิดโครงการราคาแพง เกินกว่า 10 ล้านบาท โดยเฉพาะแนวราบ ผลจากปี 2565-2566 ระดับราคานี้มีอุปทานเพิ่มในตลาดต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดปริมาณอุปทานส่วนเกินสะสมมากขึ้น โดยประมาณหน่วยเหลือขายในปัจจุบันมากกว่ายอดขายได้แต่ละไตรมาสถึง 10 เท่า" นายวิชัยกล่าว