REIC คาดอสังหาฯ'67 ยังเหนื่อยยอดขายอืด
Loading

REIC คาดอสังหาฯ'67 ยังเหนื่อยยอดขายอืด

วันที่ : 30 มีนาคม 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) สรุปถึงทิศทางใน ปี 2567 ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ 1) เศรษฐกิจไทยที่อาจจะชะลอตัวลง 2) การยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV 3) ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP

         ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) เปิดเผยว่า ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปี 2566 การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานไม่สอดคล้องกัน ส่งผลต่อจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขาย ทำให้มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 13.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส และมีผลให้อัตราดูดซับโดยเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.7

        ภาพรวมทั้งปี 2566 มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาด 96,278 หน่วย ภาพรวม ลดลงร้อยละ -11.9 มีโครงการที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่จำนวนทั้งสิ้น 73,703 หน่วย ภาพรวมลดลงร้อยละ -22.5 มีที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 209,894 หน่วย ภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 อัตราดูดซับลดลงจากร้อยละ 3.8 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2566

        REIC คาดการณ์ว่า ถ้าปัจจัยทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุตามเป้าหมาย จะส่งผลให้ปี 2567 มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปใกล้สถานการณ์ในปี 2565 มากขึ้น ซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดหลังโควิด-19

       ในปี 2567 คาดว่าที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่อาจจะเข้ามาในตลาด 103,019 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 มูลค่ารวม 651,377 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร 50,882 หน่วย มูลค่า 425,415 ล้านบาท โครงการอาคารชุด 52,137 หน่วย มูลค่า 225,965 ล้านบาท

      คาดว่าจะมีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 91,869 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 มูลค่า 486,084 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 52,647 หน่วย มูลค่ารวม 333,868 ล้านบาท โครงการอาคารชุดจำนวน 39,222 ล้านบาท มูลค่า 152,216 ล้านบาท

      ทั้งนี้ การที่ยอดขายของอาคารชุดอาจจะต่ำกว่ายอดเปิดตัวใหม่ อาจส่งผล ให้ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขายจะมีจำนวน 232,216 หน่วย มูลค่า 1,296,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เทียบกับปี 2566 โดยอัตราดูดซับ ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราดูดซับการขายของโครงการอาคารชุดที่อาจมีการปรับลดลงมากกว่าบ้านจัดสรร

      ดร.วิชัย กล่าวสรุปถึงทิศทางใน ปี 2567 ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ 1) เศรษฐกิจไทยที่อาจจะชะลอตัวลง 2) การยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV 3) ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP

      "สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลง"
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ