3ปัจจัยแรงบีบอสังหาฯฟื้นช้า ลูกค้าต่างชาติหดตัว เจอภาษีทรัมป์-กำลังจีนถดถอย
Loading

3ปัจจัยแรงบีบอสังหาฯฟื้นช้า ลูกค้าต่างชาติหดตัว เจอภาษีทรัมป์-กำลังจีนถดถอย

วันที่ : 15 พฤษภาคม 2568
SCB EIC มองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด

   อสังหาริมทรัพย์

   ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ ไปจนถึงรายกลางและเล็กที่มีรูปแบบการประกอบธุรกิจ และจุดแข็งในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบ ทั้งด้านความแข็งแกร่งของแบรนด์และเงินลงทุน รวมถึงยังสามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาดึงดูดกำลังซื้อ เพื่อระบายสต๊อก และรักษาสภาพคล่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ TOP 8 ที่ธุรกิจสามารถฟืนตัวได้เร็ว อีกทั้ง ยังมีเงินลงทุนเพียงพอในการกลับมาเดินหน้าพัฒนาโครงการในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการระดับบน เพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อที่มีคุณภาพ ทำให้รายได้กลับมาฟืนตัวได้เร็ว และครองส่วนแบ่งการตลาดราว 50% ถึง 55% ในช่วงปี 2565-2567 ที่ผ่านมา

   ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีรายได้มากที่สุดในช่วงปี 2565-2567 สามรายแรก ได้แก่ AP, SIRI และ SPALI มีส่วนแบ่งเพิ่มจาก 27% ในปี 2565 เป็น 29% ในปี 2567 ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจำนวนมาก ยังประสบปัญหาสภาพคล่อง และไม่สามารถแข่งขันได้

   ส่วนกำลังซื้อกลุ่มรายได้สูงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ยังไม่สามารถพยุงตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวมได้มากนัก และส่งผลให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2567 อยู่ที่ 3.5 แสนหน่วย เทียบก่อนเกิดโควิดฯที่ระดับ 3.9 แสนหน่วยได้

   ในด้านมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ก็สามารถขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย มาอยู่ที่ระดับ 9.8 แสนล้านบาทในปี 2024 โดยมาจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่มีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยที่สูงขึ้น ตามปัจจัยด้านราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการ เพิ่มขึ้นของต้นทุนการพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะราคาที่ดินที่ เร่งตัวขึ้นมาก ประกอบกับสัดส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ราคาสูงโดยเฉพาะในกลุ่มบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น ราคามากกว่า 10 ล้านบาทในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34%-35% จากระดับ 29% ในปี 65 และระดับ 24% ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 ปี 2019

   สำหรับด้านอุปทาน พบว่าในช่วงปี 2565-2567 จำนวนหน่วย ที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับมาสูงกว่า จำนวนหน่วยขายได้อีกครั้ง โดยจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 90,000 หน่วยต่อปี ส่วนจำนวนหน่วยขายได้ที่อยู่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 80,000 หน่วยต่อปี นอกจากนั้น ปัจจัยด้านกำลังซื้อกลุ่มบนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากกว่า ประกอบกับต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงาน และราคาที่ดิน ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันไปพัฒนาโครงการระดับ ราคาปานกลาง-บนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อที่มีศักยภาพ และสามารถบริหารจัดการอัตรากำไรได้มากกว่าโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง

   อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีการออกนโยบายหรือมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ และจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทที่ออกมาในช่วงปี 2567 รวมถึงมาตรการผ่อนคลาย LTV และมาตรการลดหย่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ออกมาในช่วงก่อนหน้าขณะที่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ก็มีออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งผลของมาตรการสามารถ ช่วยบรรเทาการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย และกระตุ้นกำลังซื้อได้เพียงบางส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นการช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มที่มีความพร้อมที่จะซื้อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ให้ตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นเพิ่มเติมในกลุ่มที่ไม่สามารถซื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อรายได้ที่ลดลงหรือภาระหนี้ที่สูงขึ้น จนทำให้ไม่สามารถผ่านเกณฑ์การปล่อยกู้ของสถาบันการเงินได้

   3 ปัจจัยกดดัน อสังหาฯปี 68 หดตัวต่อเนื่อง

   ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2568 ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยกดดันด้านการฟื้นตัวช้าของกำลังซื้อที่ยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยสนับสนุน โดยตลาดคอนโดมิเนียมยังมีแนวโน้มหดตัวน้อยกว่าตลาดแนวราบ รวมถึงตลาดคอนโดฯมือสองคาดว่ายังได้รับความนิยมสูง

   SCB EIC มองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ในอัตราที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด จากปัจจัยกดดันที่สำคัญ ได้แก่

1) แรงกดดันด้านการฟืนตัวของกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง ที่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้ ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ไม่มีความสามารถมากพอที่จะเข้าถึงสินเชื่อใหม่

นอกจากนั้นยังพบว่า ในกลุ่มของผู้ที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยภายในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้น เป็นกลุ่มของผู้ที่วางแผนจะซื้อในระยะกลางหรือในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ามากที่สุด

2) ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน สะท้อนจากสัดส่วนยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เริ่มเพิ่มขึ้น นำมาสู่ข้อจำกัดในการซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง

3) ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย แนวราบ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปตามราคาที่ดิน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต

  ภาษีทรัมป์กระทบกำลังซื้อลูกค้าต่างชาติ

   นอกจากนี้ กำลังซื้อจากต่างชาติที่เคยมีบทบาทช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเผชิญความเสี่ยงที่มากขึ้นในปีนี้จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางด้านภาษีของทรัมป์ ซึ่งกระทบต่อการ ฟื้นตัวของกำลังซื้อชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกำลังซื้อชาวจีน ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 40% ของมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นการลดลงจากระดับ 50% ในปี 65-66 โดยมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์จากชาวจีนในปี 67 หดตัวลงถึง -22% YOY

   ทั้งนี้สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจมีส่วนดึงดูดให้กำลังซื้อจากชาวต่างชาติบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงเช่น ชาวรัสเซีย เมียนมา ไต้หวัน ยังคงเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯภูเก็ต และชลบุรี เพื่อกระจายลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากขึ้น หรือหนีความขัดแย้งและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจภายในประเทศ

   รถไฟฟ้าสายใหม่ เปิดหน้าดิน รับเปิดโครงการใหม่

   สำหรับการก่อสร้างและเปิดใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด จะเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาโครงการใหม่ๆ ในหลากหลายทำเลได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยกดดันที่ยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยสนับสนุน ส่งผลให้ SCB EIC คาดว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในปี 68 จะหดตัวราว -5% ถึง -7%YOY

   ส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศในปี 68 มีแนวโน้ม หดตัวราว -3% ถึง -5%YOY โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในต่างจังหวัดมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่สูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลเล็กน้อย เนื่องจากมีสัดส่วนกำลังซื้อกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า

   โอนฯบ้านมือสองพุ่ง ปัจจัยราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่

   นอกจากนี้ คาดว่าสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสองจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยด้านราคายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยราคาที่อยู่อาศัยมือสองยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยมือหนึ่งยังคงเร่งตัวขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ซื้อในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่างที่กำลังซื้อยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควร สามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมือสองได้ง่ายกว่ามือหนึ่ง และมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่มี นอกจากนั้น ที่อยู่อาศัยมือสองยังสามารถตอบโจทย์การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในบางทำเลที่ไม่มีมือหนึ่งขายแล้ว ทั้งนี้จากผลสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยของ SCB EIC ปี 68 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจจะซื้อที่อยู่อาศัยกว่า 65% สนใจที่อยู่อาศัยมือสอง ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับ ในปี 67 ที่มี ผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจจะซื้อที่อยู่อาศัยมือสองราว 63%

   มองสวนกระแส! คาดคอนโดฯเติบโตไปอีก 1-2 ปี

   SCB EIC มองว่าตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงมีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงเมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากพฤติกรรมผู้ซื้อในปัจจุบันมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านทำเลมากขึ้น ทั้งความสะดวกต่อการเดินทาง และใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก ประกอบกับตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบันกว่า 80% อยู่ในระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทซึ่งเป็นระดับราคาที่กำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่างสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบ และมีราคาต่ำกว่าที่อยู่อาศัย แนวราบในทำเลเดียวกัน

   ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดคอนโดมิเนียม จากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของผู้ซื้อที่มีแนวโน้มลดลง โดยเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ แม้จะไม่ได้เกิดความเสียหายต่อโครงการคอนโดมิเนียมในระดับอาคารถล่ม แต่ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยที่ลดลง ส่งผลให้กลุ่มที่มีแผนจะโอนกรรมสิทธิ์หรือมีแผนจะซื้อคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มจะชะลอการโอนหรือการตัดสินใจซื้อออกไป หรือรอกระบวนการซ่อมแซมความ เสียหายเชิงสถาปัตยกรรมของห้องพัก พื้นที่ส่วนกลาง และตัวอาคารก่อนการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ หรือซื้อ รวมถึงกลุ่มผู้ลงทุนในคอนโดมิเนียมที่อาจมีแนวโน้มชะลอการลงทุนจากความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ราคาขายต่อของคอนโดมิเนียม หรือการย้ายออกของผู้เช่ากลุ่มที่มีความกังวลอาจหันไปเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบแทน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในระยะสั้น และคาดว่าการชะลอการตัดสินใจที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะกลับมาตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ หรือซื้อภายในปี 68 ทำให้ตัวเลขคาดการณ์ด้านอุปสงค์ในตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่ำกว่ามุมมองเดิมเล็กน้อย

    SCB EIC คาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 68 จะหดตัวเล็กน้อยราว -1% ถึง -3%YOY จากเดิมที่คาดว่าอาจขยายตัวได้เล็กน้อยราว +1% ถึง +3%YOY โดยยังมีแรงหนุนของการโอนกรรมสิทธิ์ในตลาดมือสองที่คาดว่ายังสูง รวมถึงโครงการใหม่ที่มีการก่อสร้างภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายในปี 65-66 และทยอยสร้างเสร็จพร้อมโอนในช่วงปี 68 ประกอบกับแรงหนุนจากการจัดโปรโมชัน เพื่อระบายสินค้าคงเหลือของผู้ประกอบการ ที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในปีนี้

    แนวราบ อาจได้รับอานิสงส์รับแผ่นดินไหว

    ทั้งนี้การพิจารณาเปิดโครงการบ้านเดี่ยวบ้านแฝดราคาสูง ต้องมีความรอบคอบมากขึ้นเช่นกัน จากหน่วยเหลือขายสะสมที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 65-67 ส่วนการเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-ล่าง ยังคงต้องใช้ความระมัดระวังสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

    ผลของมาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยจากภาครัฐอาจยังค่อนข้างจำกัด และยังต้องจับตาการออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดที่ยังมีแนวโน้มซบเซา

    ทั้งนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับแผนกลยุทธ์อีกครั้ง โดยบางส่วนอาจชะลอการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ออกไป จนกว่าความเชื่อมั่นของผู้ซื้อจะกลับมา ฟื้นตัวได้มากขึ้น

    แม้อุปทานใหม่ในปี 68 จะยังมีแนวโน้มหดตัว แต่อุปสงค์ที่หดตัวลงเช่นกัน ส่งผลให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมในปี 68 ยังมีแนวโน้มทรงตัว โดยในกลุ่มบ้านเดี่ยวบ้านแฝดระดับราคาปานกลางขึ้นไป ยังต้องใช้ระยะเวลาดูดซับ จากอุปสงค์ที่ยังมีอยู่จำกัด ส่วนในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลาง-ล่าง ที่แม้จะมีการเปิดโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์การถูกปฏิเสธ สินเชื่อ หรือยกเลิกการซื้อ Pre-sale โครงการคอนโดมิเนียมที่มีแผนจะก่อสร้างเสร็จพร้อมส่งมอบในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ที่จะเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หน่วยที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมเร่งตัวขึ้น

    มาตรการภาครัฐที่ประกาศออกมาแล้ว อย่างมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV สำหรับกรณีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไปมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกรณีที่อยู่อาศัยตั้งแต่หลังแรกมูลค่าตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป รวมถึงมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยไม่ให้หดตัวมากนัก โดยผลยังคงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงิน และงบประมาณเพียงพอ ที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง ประกอบกับสถาบันการเงิน ยังคงเข้มงวดในการให้สินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง ที่ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวของรายได้ และการลดลงของภาระหนี้ ซึ่งยังคงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ และยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นตัว

    ยังมีความต่อเนื่องในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยราคาต่ำจากธนาคารของรัฐ ในส่วนของโครงการบ้านเพื่อคนไทย หากสามารถสร้างเสร็จตามแบบและเข้าอยู่ได้จริง ก็จะช่วยให้ผู้มีรายได้ต่ำสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพดีได้ ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะมีเฟสต่อๆ ไปหรือไม่

    สำหรับกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1) พัฒนาโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง เช่น หลีกเลี่ยงทำเลที่มีหน่วยเหลือขายสะสมสูง 2) ตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับผู้ซื้อแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด เช่น แก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง 3) ขยายตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่งสูง ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต และ 4) บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาอัตรากำไร

    ยังต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) เช่น การพัฒนาโครงการโดยคำนึงถึงการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainable living) หรือที่อยู่อาศัยสีเขียว (Green housing) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจากคนรุ่นใหม่