ทุนยักษ์ชงแก้สีผังกทม เซ็นทรัล-เจ้าสัวเจริญ-MQDCยื่นอัพเกรดพื้นที่สีแดงขานตึกสูง
Loading

ทุนยักษ์ชงแก้สีผังกทม เซ็นทรัล-เจ้าสัวเจริญ-MQDCยื่นอัพเกรดพื้นที่สีแดงขานตึกสูง

วันที่ : 23 กันยายน 2561
เจ้าของที่ นับ 100 ทุนยักษ์ยื่นเปลี่ยนสีผังกทม.ใหม่เพิ่มมูลค่า จากพื้นที่เขียว-เหลือง "เกษตร-อยู่อาศัย" เป็นสีแดงผุดตึกสูง-ใหญ่-ศูนย์การค้า  

เซ็นทรัลขอบางขุนเทียนผุดห้าง-เจ้าสัวเจริญผุดศูนย์ประชุมระดับโลก ถนนประเสริฐมนูกิจ-ขยายเอเชียทีคย่านเจริญกรุง ขณะแมกโนเลียขอสร้างออฟฟิศติดสถานีบีทีเอสปุณณวิถี

สืบเนื่องจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างปรับปรุงครั้งที่ 4  คาดว่าปลายปีนี้จะจัดประชาพิจารณ์ใหญ่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ขณะที่เจ้าของที่ดิน รายใหญ่-ย่อยกว่า 100 ราย ยื่นแล้วขอปรับสีผังพัฒนาพื้นที่เพิ่มมูลค่าที่ดิน

นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ กรรมการผู้จัดการ บจก.เดวาเรียลเอสเตท นายกสมาคมอสังหา ริมทรัพย์ นนทบุรี และเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  ปัจจุบัน ราคาที่ดินขยับไปไกล ตามการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า แม้กทม. จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา  โดยรอบสถานีแต่มองว่ายังไม่สะท้อนกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ทุกแห่งที่ รถไฟฟ้าไปควรปรับให้ เกิดการพัฒนาได้สูงสุดเช่นพื้นที่สีน้ำตาล

สอดคล้องกับนางอาภาอรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 (RICHY) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ทุกพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าผ่านกทม.ควรปรับผังเมืองให้พัฒนาสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเช่น พื้นที่สีน้ำตาลเนื่องจากราคาที่ดินวิ่งไปไกล

ด้านแหล่งข่าวจากกรุงเทพ มหานคร ยอมรับว่า มีเจ้าของที่ดินกว่า 100 รายยื่นขอเปลี่ยนสีการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมืองกทม.ที่ทั้งประชาชนทั่วไป จนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่

ประเด็นของการขอปรับสีผัง การใช้ประโยชน์ที่ดินกรณีเจ้าของพื้นที่รายย่อยส่วนใหญ่ต้องการให้พื้นที่ของตนเองเจริญขึ้นและสามารถพัฒนาได้ หรือไม่ก็ขายต่อให้กับนายทุน ขณะผู้ประกอบการรายใหญ่ มีประมาณ 3 รายที่เสนอขอเปลี่ยนสีผังโดยอ้างว่าเพื่อต้องการพัฒนา ตามต้นทุนที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไปรวมถึงโครงข่ายรถไฟฟ้ารองรับคนทำงานและอยู่อาศัยย่านดังกล่าว

ได้แก่ ทำเลเจริญกรุงทีซีซีแลนด์ต้องการขยายโครงการเอเชียทีคออกไปบริเวณด้านข้าง โดยขอให้ผังกทม.ฉบับใหม่ เปลี่ยนพื้นที่สีน้ำตาลย. 8 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นพื้นที่สีแดง พาณิชยกรรมระดับสูงสร้างห้างศูนย์การค้าแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังขอเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดิน บนถนนประเสริฐมนูกิจ เนื้อที่ 300 ไร่ ที่มีแผนพัฒนาเป็น ศูนย์การประชุมและนิทรรศการระดับโลกจาก พื้นที่สีเหลืองบริเวณด้านในเป็นพื้นที่สีแดงเพื่อให้สอดรับกับโครงการที่น่าจะมีประโยชน์ต่อ สังคมและประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีแมกโนเลีย หรือ MQDC ขอปรับพื้นที่สีส้ม ย.7 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) บริเวณสถานี บีทีเอสปุณณวิถี เป็นพื้นที่สีแดงระดับสูงโดยระบุว่าต้องการพัฒนาอาคารสำนักงาน รองรับกลุ่มคนทำงานย่านใกล้เคียง นอกจากโครงการ วันโอวันวิสซ์ดอม สุขุมวิท 64 ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการใหญ่ลักษณะศูนย์การเรียนรู้และไอที

ขณะที่ กลุ่มเซ็นทรัล ยื่นขอปรับจากพื้นที่สีเขียว ทำเลบางขุนนนท์ เป็นพื้นที่สีแดงระดับสูงเพื่อสร้างศูนย์การค้า อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะปรับได้มากน้อยแค่ไหน

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพ มหานคร  เปิดเผยว่า   ผังเมืองใหม่ต้องการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง ดังนั้นหากเจ้าของที่ดินต้องการแนะนำสามารถเสนอเข้ามาได้เพื่อช่วยปรับปรุง วางผังเมืองฉบับใหม่ ไม่เน้นความสำคัญของสีการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่จะพิจารณาข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบคมนาคม อาทิ รถไฟฟ้าและแนวคิดการพัฒนาเมือง  และมีการกำหนดศูนย์กลางความเจริญของเมือง เช่น ศูนย์กลางบางซื่อ และส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมในบางพื้นที่ เช่น พระราม 4 บางกะปิ ทั้งนี้ ย่านบางกะปิ มีพื้นที่ 66,400 ตารางเมตร

"ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง และคิดว่าผังเมืองรวมฉบับใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาไปในทางที่ดี"

สรุปหลักๆผังเมืองใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาโดยรอบพื้นที่สถานีระบบขนส่งมวลชนรางต่างๆ โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญ เช่น สยาม บางหว้า ตลิ่งชัน ท่าพระ บางกะปิ ขณะเดียวกัน ได้กำหนดศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ (บางซื่อ) และส่งเสริมย่านพระราม 9 เป็นนิวซีบีดี อีกทั้งยังส่งเสริมพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ (เจริญกรุง) และส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมือง 8 แห่ง มีนบุรี ลาดกระบัง ศรีนครินทร์ บางขุนเทียน บางมด ตลิ่งชัน และสะพานใหม่
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ