ดีเวลลอปเปอร์แห่พัฒนาเทคโนโลยีกระตุ้นยอดขายปี 2018
Loading

ดีเวลลอปเปอร์แห่พัฒนาเทคโนโลยีกระตุ้นยอดขายปี 2018

วันที่ : 15 มีนาคม 2561
ดีเวลลอปเปอร์แห่พัฒนาเทคโนโลยีกระตุ้นยอดขายปี 2018

ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยังคงประกาศแผนธุรกิจเชิงรุกในปี 2018 โดยแต่ละรายมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ที่แตกต่างกันไป  แต่ที่น่าสนใจคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการกระตุ้นยอดขายและไลห์สไตล์ของคนกันมากขึ้น

ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนในยุคดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป 'บ้าน'หรือ 'คอนโดมิเนียม'จึงต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของคนเมืองมากขึ้น ดีเวลลอปเปอร์ชั้นนำจึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ทีเกียวเนื่องกับบ้านอัจฉริยะ ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่น รวมถึงบริการล้ำๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นยอดขายรองรับคนกลุ่มนี้

เทคโนโลยีคือกลยุทธ์สำคัญ

โดยมีดีเวลลอปเปอร์หลายรายที่โดดเด่นในเรื่องนี้ และนำมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเฉพาะในโครงการระดับบนทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและเป็นกลุ่ม Early Adopter ที่เปิดรับและตอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ง่าย เพื่อชิงชัยในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะเติบโตในปี 2561 ราว 6-8% (ข้อมูลตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ตัวอย่างเช่น

แสนสิริ ที่ตั้งเป้าขยายกลุ่มลูกค้าต่างชาติโดยหวังยอดจากลูกค้ากลุ่มนี้ 12,000 ล้านบาท ภายในปีนี้ ก็ได้ลงทุนในด้าน LivingTech อย่างจริงจัง ผ่านสตาร์ทอัพดาวเด่น่หลายราย ที่โดดเด่นคือการใช้ Amazon Web Services ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านไอทีผ่านอินเทอร์เน็ตมาพัฒนาระบบสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทยเป็นครั้งแรก เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย ในการตรวจสอบสถานะการใช้งานของพื้นที่ส่วนกลาง อย่าง Co-working Space และห้องออกกำลังกาย เป็นต้น รวมถึงหุ่นยนต์แสนดีที่นำมาใช้นำส่งเอกสารและพัสดุต่างๆ ถึงหน้าห้อง

นอกจากนี้ยังมี Sansiri Home Automation Control ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆสั่งงานด้วยเสียงได้รวดเร็ว ทันใจ เท่านั้นยังไม่พอยังเพิ่มขีดความสามารถครอบคลุมข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอื่นๆ เปรียบเสมือนศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร เช่น การเช็คสภาพจราจรรายงานสภาพอากาศ สรุปข่าวรายวันเบ็ดเสร็จ ครบครันที่เดียว และล่าสุดคือ Smart Move แพลตฟอร์มบริการรถยนต์ไฟฟ้าให้เช่าสำหรับลูกบ้าน นำร่องด้วย BMW รุ่น i3ประเดิมโครงการแรกที่เดอะไลน์ จตุจักร-หมอชิต

ด้านเอสซี แอสเสท นำเสนอ Living Solutions Plaform เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมป 3 ปี กับการเป็น Living Solutions Provider ชั้นนำที่ยึดหลักผู้อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลาง หนึ่งในนั้นคือ "รู้ใจ"แพลตฟอร์มแห่งการอยู่อาศัยรูปแบบใหม่เพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นสิ่งสำคัญก่อนที่จะสรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมทั้ง Internet of Things (loT), Big Data, Cloud Computing และ Artificial Intelligence (AI) มาตอบสนองความต้องการที่ไม่เคยถูกเติมเต็มมาก่อนในอดีต เช่น การควบคุมการเปิด-ปิด เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นไปอีกระดับ ด้วยระบบไฟฟ้าที่เปิดปิดอัตโนมัติโดยอาศัยการจับการเคลื่อนไหวของคนภายในห้อง  และระบบเครื่องปรับอากาศที่ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับร่างกายโดยที่ผู้อยู่อาศัยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวหรือสัมผัสกับอุปกรณ์ใดๆเลย ซึ่งอนาคตจากการที่เอสซี แอสเซ็ท ไปลงทุนใน Fire One One บริษัที่ปรึกษาด้าน Business Transformation ในสั่ดส่วน 20% ก็อาจจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในรูปแบบใหม่ๆ มาใช้งาน เช่น หุ่นยนต์ลำเลียงและจัดส่งเสื้อผ้าที่ให้บริการถึงห้องพัก เป็นต้น

ส่วนอนันดา ดีเวลลอปเมนท์ ก็ไม่ตกขบวน เพราะมุ่งมั่นกับแผนกลยุทธ์ Urban Tech ที่พยายามสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อคนเมืองเช่น Haupcar แพลตฟอร์ม Car Sharing รายแรกของไทย เพื่อให้ลูกบ้านที่ไม่มีรถยนต์ของตัวเอง สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวกมากขึ้น ล่าสุดมีบริการสั่งซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์ก็ตจากหลากหลายเชนดังผ่าน Nasket อุปกรณ์สแกนบาร์โค้ดสินค้า กับแนวคิด "ยกห้างมาไว้ที่ห้อง" รวมถึงลูกบ้านสามารถแจ้งซ่อมได้สะดวกผ่านแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาให้ช่วยลดเวลา และขั้นตอนการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ เอพี จะมุ่งเน้นพัฒนาแบรนด์ระดับ Super Luxury อย่างต่อเนื่องมากขึ้น มีโปรเจกต์เด่นที่ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ Smart POD ล็อกเกอร์อัจฉริยะที่ตัดปัญหาเรื่องเวลาในการรับเอกสารและพัสดุจากนิติบุคคล เพราะสามารถรับได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตได้อย่างไร้ขีดจำกัดมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยลงเรื่อยๆ เพราะจะกลับบ้านเวลาไหนก็ได้ตามสะดวก นับเป็นการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่นมากกว่าเคย รวมถึงการนำเทคโนโลยี loT มาเชื่อมต่อในทุกพื้นที่อยู่อาศัย ตามแนวคิด "นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ในการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน" เพื่อตั้งเป้าขึ้น 1 ใน 3 ของดีเวลลอปเปอร์ไทย

ส่วนแนวทางที่ PwC แนะนำก็คือ ดีไวซ์ หรืออุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ร่วมกับโมบายแบบไร้รอยต่อ จะช่วยเพิ่มการใช้งานได้ เพราะ 74% ของผู้ใช้งานอุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะบอกว่าพวกเขาจะใช้มันบ่อยครั้งขึ้น ถ้าหากมันเชื่อต่อกับสมาร์ทโฟนหรือโมบาย ดีไวซ์ ต่างๆ ของพวกเขา

ในขณะที่อุปสรรคใหญ่หลวงที่ขัดขวางไม่ให้ผู้บริโภคซื้ออุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะ ก็คือความกังวลในเรื่องของราคา (42%) ขณะเดียวกันก็อยากที่จะซืออุปกรณ์สำหรับบ้านอัจฉริยะหากได้รับข้อเสนอในเรื่องของการผ่อนชำระเงิน(52%)

 
ที่มา : BLT BANGKOK