รฟม.เลื่อนMOUตั๋วร่วมรถไฟฟ้าส่อหลุดเป้า 'สีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์'ยังไม่มีงบปรับระบบ
Loading

รฟม.เลื่อนMOUตั๋วร่วมรถไฟฟ้าส่อหลุดเป้า 'สีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์'ยังไม่มีงบปรับระบบ

วันที่ : 4 กันยายน 2560
รฟม.เลื่อนMOUตั๋วร่วมรถไฟฟ้าส่อหลุดเป้า 'สีม่วง-แอร์พอร์ตลิงก์'ยังไม่มีงบปรับระบบ

ตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 4 สายลุ้นเปิดใช้หลุดเป้าอีก เหตุรฟม.เลื่อนMOUกับBTS-BEM อ้างรอเสนอบอร์ด 18 ก.ย.เห็นชอบก่อน ขณะที่ ตั้งเป้า "แอร์พอร์ตลิงก์กับสีม่วง" ใช้ได้ มี.ค.61 ส่อวืด เผยจนถึงขณะนี้ ยัง ไม่มีงบปรับปรุงระบบ คาดใช้สายละ 100 ล้าน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (บัตรแมงมุม) ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ส.ค.ได้รับทราบแนวทางการดำเนินงานแล้ว ในระยะแรกการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย (รฟม.) จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม และมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ (Business Rile) สำหรับการใช้ตั๋วร่วมกับผู้ให้บริการต่างๆ รวมถึงต้องมีการลงนามในข้อตกลง (MOU) กับผู้ให้บริการ ซึ่งเริ่มต้นจะลงนาม MOU กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เพื่อ สร้างความมั่นใจกับเอกชนในการลงทุนติดตั้งระบบตั๋วร่วม ในรถไฟฟ้าบีทีเอสและสีน้ำเงิน  แต่ทราบว่า รฟม. จะมีการเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. กลางเดือน ก.ย.นี้ก่อน จึงจะลงนามได้ ซึ่งเลื่อนจากแผนเดิมที่จะมีการลงนามภายในเดือน ส.ค.

นายเผด็จประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สนข.ได้เจรจากับ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า 4 สายแล้ว ในการปรับปรุงระบบรองรับตั๋วร่วม ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์และสายสีม่วงซึ่งเป็นของรฟม. จะใช้เวลาในการปรับปรุงระบบ 6-7 เดือน แล้วเสร็จประมาณ มี.ค. 2561 ส่วนสายสีเขียวของบีทีเอสและสีน้ำเงินของ BEM จะใช้เวลาปรับปรุงระบบ 10 เดือน ซึ่งหลังรฟม.MOUกับ 2 รายนี้ จะมีการตกลงปรับปรุงระบบ ออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบ ต่อไป

จากการประเมินร่วมกัน ผู้ประกอบการแต่ละรายจะเป็นผู้ลงทุนปรับปรุงติดตั้งระบบตั๋วร่วมเอง ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์ และสายสีม่วง ประมาณรายละ 100 ล้านบาท ส่วน BTS และ MRT คาดว่าจะมีค่าปรับปรุงระบบรายละกว่า 120 ล้านบาท โดยรวมจะมีค่าปรับปรุงระบบสำหรับรถไฟฟ้า 4 สาย กว่า 400 ล้านบาท ค่าจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) 300ล้านบาท (สนข.ได้ดำเนินการแล้ว) ค่าบำรุงรักษาในการให้บริการ 160 ล้านบาทต่อปี และอื่นๆ 100 ล้านบาท รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นทุนเริ่มต้นสำหรับการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมนั้น รฟม. จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ รวมถึงพิจารณาว่าจะต้องเป็นการร่วมลงทุน PPP หรือไม่

ส่วนระบบขนส่งใหม่ๆ เรือ ทางด่วน มอเตอร์เวย์ จะเริ่มให้บริการในเฟส 2 ปลายปี 2561 สำหรับ บริการนอกภาคขนส่ง เช่น ร้านค้าต่างๆ นั้น สนข.ได้เจรจากับ ซีพี เดอะมอลล์ เซ็นทรัล แล้วในการเข้ามาร่วมคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ปลายปี 2560

โดยตั๋วร่วมในระยะแรกจะเป็นแบบ Common Ticket คือตั๋วใบเดียวขึ้นได้ทุกระบบ แต่ค่าโดยสารยังจ่ายเท่าเดิม สำหรับการลดค่าแรกเข้าเมื่อมีการเชื่อมต่อจากระบบหนึ่งไปอีกระบบหนึ่ง หรือ Common Fairนั้น คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งและจะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขกับผู้ให้บริการที่มีสัญญาสัมปทานเดิมทั้ง BTS และ BEM อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถลดค่าแรกเข้าในระบบที่ 2 ได้ 20-30% หรือลดจาก 15 บาทเหลือ 10 บาท ซึ่งรัฐอาจจะต้องมีการชดเชยให้เอกชน

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า ขณะนี้รฟม.อยู่ในภาวะ ไม่มีผู้ว่าฯ ตัวจริง ดังนั้นการดำเนินงานจึงต้องเสนอบอร์ด รฟม. ไว้ก่อนเพื่อความรอบคอบ ซึ่ง บอร์ดจะประชุมวันที่ 18 ก.ย.ทำให้ต้องเลื่อนการทำ MOUกับBTS และ BEM ออกไปก่อน ขณะที่ในระยะแรก รฟม.จะต้องหน่วยธุรกิจขึ้นมาดำเนินการบริหารจัดการระบบ ส่วนบริษัทลูก (CTC) นั้นจะไม่เป็นการร่วมทุน PPP แต่จะจัดตั้งเป็น บริษัท จำกัด ภายใต้พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ คาดว่าจะใช้เวลา 10-12 เดือน ในการเจรจากับผู้ให้บริการเพื่อเข้ามา ร่วมถือหุ้น ตามสัดส่วนที่ได้มีการลงทุนปรับปรุงระบบ

อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงระบบสายสีม่วงและแอร์พอร์ตลิงก์ เพื่อรองรับตั๋วร่วมนั้น ขณะนี้ทั้ง รฟม.และแอร์พอร์ตลิงก์ ยังไม่ได้รับงบประมาณดำเนินการเลย ซึ่งหากล่าช้าจะกระทบต่อการให้บริการอาจจะไม่ทันกำหนดในเดือน มี.ค. 2561

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ