พรก.ต่างด้าวกระทบ'รับเหมา'อสังหาผวาถูกชาร์จค่าแรงเพิ่ม
Loading

พรก.ต่างด้าวกระทบ'รับเหมา'อสังหาผวาถูกชาร์จค่าแรงเพิ่ม

วันที่ : 3 กรกฎาคม 2560
พรก.ต่างด้าวกระทบ'รับเหมา'อสังหาผวาถูกชาร์จค่าแรงเพิ่ม
"พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับใหม่"

          สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเผยรัฐบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับใหม่ อาจเป็นชนวนขาดแคลนแรงงานหนัก โดยเฉพาะก่อสร้างตึกสูง หวั่นกระทบการลงทุนเมกะโปรเจค เหตุต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะอสังหาฯผวาผู้รับเหมาชาร์จค่าแรงเพิ่ม

          จากกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งบรรเทาปัญหาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 โดยให้มีการชะลอใช้ 3 มาตราที่ว่าด้วยบทลงโทษ คือมาตรา 101 กรณีการเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 เอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพ พิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 122 การรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน  ซึ่งมีโทษหนัก แก่นายจ้างหรือลูกจ้าง ขณะที่ภาคเอกชนยังคงออกมาระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างค่อนข้างมากเพราะ 90% ของแรงงานที่ใช้เป็นแรงงานต่างด้าว ทั้ง เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และลาว ประเมินว่าในภาคก่อสร้างมี แรงงานต่างด้าวกว่า 3 แสนคน โดยหนึ่งโครงการก่อสร้าง เฉลี่ยจะต้องใช้แรงงาน 300-400 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวมีทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

          "ในภาวะที่อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ก็จะทำให้ขาดแคลนแรงงานหนักขึ้น เห็นว่าอาจจะกระทบหนักโดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารสูง ที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ผูกเหล็ก เทปูน ฯลฯ"

          นายสังวรณ์ ยังระบุว่า ที่ผ่านมา การขออนุญาตใช้แรงงานต่างด้าวมีหลายขั้นตอน อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการบางราย ไม่นำแรงงานไปขึ้นทะเบียน อีกทั้งมองว่าเป็นต้นทุนเนื่องจากแรงงานต่างด้าวภาคก่อสร้างมักเปลี่ยนบ่อย

          หวั่นกระทบลงทุนเมกะโปรเจค

          นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กล่าวว่า  แม้ พ.ร.ก. ดังกล่าวจะบังคับใช้แล้ว แต่เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเข้มงวด การดำเนินการรัฐควรกำหนดช่วงเวลา "ผ่อนปรน" การบังคับใช้กฎหมายออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว

          นอกจากนี้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมควรเพิ่มจำนวนสำนักงานแรงงานให้ทั่วถึง รองรับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าวให้รวดเร็วขึ้น

          "ยิ่งรัฐบาลมีแผนจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ มูลค่าลงทุนรวมพูดกันที่หลักล้านล้านบาท จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวมาก หากกฎหมายนี้ทำให้แรงงานขาดแคลน จะทำอย่างไร คนไทยเองมักไม่ทำอาชีพที่แรงงานต่างด้าวทำ ขณะที่ภาครัฐก็อยากยกระดับแรงงานไทยสู่ 4.0"

          เล็งบวกต้นทุนแรงงาน

          นายธีรพัฒน์ จิรพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเชียงใหม่ ริมดอย กล่าวว่า พ.ร.ก. ต่างด้าวฉบับใหม่ หากนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจะกลายเป็นความเสี่ยง ใหม่ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น

          สำหรับการดำเนินงานของบริษัทพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วน 80-90% อย่างไรก็ดี บริษัทได้เตรียมแผนรับมือไว้ โดยอาจจะคำนวณต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.ก. ฉบับใหม่ไปรวมกับการประมูลงานรับเหมา

          เสนอแจ้งย้ายแรงงานผ่านออนไลน์

          นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) คาดว่า พ.ร.ก. ต่างด้าว ฉบับใหม่ จะส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตฯ เกษตร ภาคการบริการ เช่น โรงแรม สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ โดยแม้ว่าจะมีแรงงานต่างด้าวบางส่วนขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือปฏิบัติตนขัดต่อกฎหมาย

          โดยเฉพาะการใช้แรงงานต่างด้าวข้ามเขต เนื่องจากภาคก่อสร้างยังมีความแตกต่างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการย้ายไซต์งานก่อสร้างไปตามโครงการต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมา ภาครัฐได้ผ่อนคลายค่าใช้จ่ายการแจ้งเคลื่อนย้ายแรงงานไซต์ต่อไซต์ แต่เพื่ออำนวยความสะดวกต่อทั้งผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว จึงอยากเสนอให้รัฐเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการ แจ้งย้ายแรงงานข้ามเขตผ่านระบบออนไลน์ได้ อีกทั้งเห็นว่ากฎหมายใหม่ควรวางกฎเกณฑ์ ต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแรงงานต่างด้าวอาจเดินทางกลับประเทศ กระทบผู้รับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยไม่ทำงานประเภทนี้

          ปัจจุบันกานดา พร็อพเพอร์ตี้ มีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 350 คน ซึ่งบริษัทได้พาไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วทั้งหมด

          อสังหาฯกระทบน้อยกว่าผู้รับเหมา

          นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ คาดว่า พ.ร.ก. ต่างด้าวที่ออกมาใหม่จะไม่ส่งผลกระทบภาพรวมอสังหาฯ นัก เนื่องจากโครงการที่จะเปิดใหม่ขณะนี้ยังมีไม่มาก ทั้งยังมองว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการจัดการให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายหรืออยู่ในระบบ

          "ภาพรวมของการบังคับใช้กฎหมายใหม่มองว่าไม่ได้ส่งผล กระทบต่อการดำเนินงานของแสนสิริ เนื่องจากบริษัทใช้รูปแบบว่าจ้างผู้รับเหมาทั้งหมด ซึ่งผู้รับเหมาก็จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพาแรงงานขึ้นทะเบียน"

          ลุ้น"ผู้รับเหมา"ชาร์จค่าแรงเพิ่ม

          นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ต่างด้าว ที่บังคับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนจะส่งผล กระทบต่อภาคอสังหาฯ มากน้อยเพียงใด ต้องรอดูค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยหากผู้รับเหมาเห็นว่าต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดก็จะเก็บ หรือชาร์จเพิ่มจากผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งนี้ปัจจุบันเสนาฯ มีแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับบริษัทในระดับหลักร้อยคนในโครงการ อสังหาฯ ต่างๆ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

          ระบุต้องประเมินผลกระทบรอบด้าน

          นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นว่า พ.ร.ก. ที่กำหนดมานั้นค่อนข้างส่ง ผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี อีกทั้งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวในหลากหลายธุรกิจ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรวิเคราะห์ส่วนได้และส่วนเสียให้สอดคล้องกับผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

          "เห็นด้วยกับการบังคับใช้ พ.ร.ก. เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงบริหารจัดการแรงงานให้ อยู่ในระบบเพื่อสะดวกในการจัดการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ แต่จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนว่าการออกกฎหมายเช่นนี้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และหากมีผู้ ได้รับผลกระทบมากก็ควร ยืดหยุ่น หรือชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหาย"

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ