MQDC ชูนวัตกรรม-เทคโนโลยี ลงทุน 6 พันล.ยกระดับคุณภาพชีวิต
แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส และเป็นเจ้าของแบรนด์ แมกโนเลียและวิสช์ดอม เปิดตัวกรอบแผนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี วิวัฒนาการเพื่อยกระดับด้านสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยร่วมมือกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับลูกค้าผ่านระบบกลไกโรโบติกส์และนวัตกรรมสมองอัจฉริยะ (Artificial Intelligence-Ai) พร้อมบูรณาการการบริการลูกค้าทั้งหมดเข้าด้วยกันในแพลตฟอร์มเดียวกัน ทั้งด้านการตรวจสอบและการควบคุมระบบต่าง ๆ
พร้อมเผยโครงการ วิสซ์ดอม รัชดา-ท่าพระ ซึ่งจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ในปี 2561 จะเป็นดครงการแรกในประเทศไทยที่จะเปิดตัวระบบการอยู่อาศัยอัจฉระยะเต็มรูปแบบ ตอบโจทย์เทคโนโลยีความเป็นอยู่ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมากกว่าแค่ ‘การอยู่อาศัย มุ่งเน้นการยกระดับด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยรวม รวมไปถึงด้านความปลอดภัย และการประหยัดพลังงาน โดยจะมีการลงทุนมากกว่า 6,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีข้างหน้า
วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลียร์ ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า แผนการลงทุนดังกลาวสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Sustainovation) ของบริษัทแม่กลุ่มบริษัทดีที (DTGO Corporation Limited-DTGO) ที่จะนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและผู้เช่าในโครงการของ MQDC
“MQDC นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมากกว่าแค่ ‘การอยู่อาศัย’ แต่เป็นวิวัฒนาการเพื่อการยกระดับในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยรวม การหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี มาพัฒนาร่วมกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญของแผนแม่บทของ MQDC สำหรับการสร้างและบูรณาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในอนาคตของเรา การลงทุนเหล่านี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า MQDC ประยุกต์นวัตกรรมที่ยั่งยืนเข้ากับการใช้งานในชีวิตจริง แต่ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ใส่ใจเพียงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เท่านั้น หากเรายังใส่ใจเรื่องการใช้นวัตกรรมเหล่านั้น ที่ตอบสนองความต้องการที่ลูกค้าเองยังไม่ทราบ และเชื่อมต่อกับบริการอื่น ๆ ในแพลตฟอร์มเดียวกันซึ่งนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ”
สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research and Innovation for Sustainability Center หรือ RISC) ของ MQDC จะร่วมทำงานกับบริษัท Obotron ซึ่งเป็น Startups เพื่อจะออกแบบและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีความเป็นอยู่ การเก็บรวบรวมข้อมูล และนวัตกรรมสมองอัจฉริยะ (Artificial Intelligence-Ai) โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนานวัตกรรมด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาสุขภาพ และระบบการจัดการชีวิตประจำวันเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC โดยจะครอบคลุม 3 ส่วนหลักดังต่อไปนี้
หนึ่ง-ระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency Awareness): การรายงานสภาพการใช้กระแสไฟฟ้าแบบเรียลไทม์
สอง-ระบบที่ตอบสนองด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Health System): โดยเซ็นเซอร์ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบระบายอากาศแบบประหยัดพลังงานเพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับอากาศบริสุทธิ์ภายในห้อง และยังประหยัดการใช้ไฟฟ้า
สาม-ระบบการควบคุมเพื่อตอบสนองวิถีการใช้ชีวิตเพื่อความสะดวกสบาย (Lifestyle Contral): โดยนำเสนอระบบควบคุมอัจฉระยะซึ่งจะสามารถทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถควบคุมทุกระบบในบ้านได้จากโทรศัพท์มือถือ เซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว ระบบแสงสว่างอัตโนมัติ ระบบประตูหน้าต่างล็อกแม่เหล็กระบบดิจิตอลเพื่อเพิ่มความปลอดภัย โครงการยังมีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดซึ่งเชื่อมต่อระบบความปลอดภัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน โดยที่ระบบทั้งหมดสามารถควบคุมได้ผ่านโทรศัพท์มือถือของลูกค้า
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิจัยและนวัตกรรม ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (The Research and Innovation for Sustainability Center หรือ RISC) กล่าวว่า แนวคิดหลักของศูนย์ฯ คือให้ความสำคัญกับทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีหรือคุณภาพชีวิตที่ดี (Well-Being) ทั้งของ มนุษย์และสัตว์ เช่น นก ยุง ฯลฯ รวมทั้งต้นไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบของสังคมเมือง
“ยกตัวอย่างเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับการนอน เรารู้ทฤษฎี ทีมวิจัยมีความรู้ในการปรับให้อากาศภายในห้องนอนมีคุณภาพดีขึ้น แต่ไม่สามารถสร้างระบบและพัฒาให้ทำงานเองได้แบบอัจฉริยะหรืออัตโนมัติ จึงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญคือ บริษัทฯ เข้ามาร่วมมือพัฒนาระบบดังกล่าว คือ ระบบ Energy Recovery Ventilation (ERV) คือการเติมอากาศที่ดีจากข้างนอกเข้าไปในห้องและนำอากาศที่ไม่ดีจากในห้องออกมา หรือระบบถ่ายเทอากาศในห้องนั่นอง และให้สามารถทำงานได้เองแบบอัจฉริยะ จึงต้องร่วมมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ”
พลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ซีอีโอ บริษัท โอโบตรอนส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับโฮมอินเทลิเจนท์ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาสู่บ้านหรือที่อยู่อาศัยอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือการนำงานวิจัยที่ได้จากศูนย์ฯ มาทำให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมหรือจับต้องได้อย่างแท้จริง หมายถึงสามารถตอบโจทย์งานวิจัยและมีราคาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ เพราะหากงานวิจัยหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมานั้นเข้าถึงคนเดียงส่วนน้อยก็ถือว่ายังไม่ใช่เป้าหมายหลักที่ต้องการจะทำ
ยกตัวอย่าง “การสร้างระบบควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ซึ่งเป็นโจทย์จากงานวิจัยของศูนย์ฯ ที่ต้องการห้องนอนที่สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพจริง ๆ เป็นต้น
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา