สิริเวนเจอร์ลุย PropTech ประเดิมลงทุน 100 ล้าน เล็งปั้นสตาร์ทอัพใหม่ 300 รายใน 3 ปี
Loading

สิริเวนเจอร์ลุย PropTech ประเดิมลงทุน 100 ล้าน เล็งปั้นสตาร์ทอัพใหม่ 300 รายใน 3 ปี

วันที่ : 15 มิถุนายน 2560
สิริเวนเจอร์ลุย PropTech ประเดิมลงทุน 100 ล้าน เล็งปั้นสตาร์ทอัพใหม่ 300 รายใน 3 ปี

"สิริ เวนเจอร์" รุกหนัก "PropTech" ประเดิม 100 ล้าน ตั้งเป้าปั้นสตาร์ทอัพใหม่ 300 ราย ปี'63

 

นายชาคริต จันทร์รุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิริ เวนเจอร์ เปิดเผยว่า สิริ เวนเจอร์ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างแสนสิริกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในรูปแบบ Corporate Venture Capital ที่มุ่งลงทุนและพัฒนานวัตกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่ออนาคต หรือ PropTech โดยมีงบลงทุนเบื้องต้น 100 ล้านบาท เบื้องต้นเน้นลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพในไทยและสิงคโปร์

 

ทั้งนี้ บริษัทได้เปิดโครงการ "Siri Venture Partnership" หลังจากที่รับสมัครทีมสตาร์ทอัพจำนวน 100 ทีม เพื่อพิจารณาคัดเลือกทีมศักยภาพสูงสุดมาเข้าร่วมพาร์ตเนอร์ชิพโปรแกรม จำนวน 25 ทีม เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ ในช่วงไตรมาส 3 เพื่อร่วมลงทุนและผลักดันนวัตกรรมให้ได้รับการจดสิทธิบัตรต่อไป

 

สำหรับ PropTech เป็นประเภทใหม่ของสตาร์ทอัพและมีศักยภาพสูงในประเทศไทย เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถพัฒนา PropTech ให้ครอบคลุมเทคโนโลยีสำหรับการทำธุรกิจด้านที่อยู่อาศัยอย่างครบวงจร (Holistic Property Technology Landscape) ตั้งแต่การบริหารระบบข้อมูล การออกแบบโครงการ การก่อสร้าง การสนับสนุนการซื้อขาย การบริหาร และให้บริการภายในโครงการ ไปจนถึงเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการอยู่อาศัยแบบองค์รวม และมีโอกาสในการเติบโตค่อนข้างสูงมาก

 

"สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพสูงในเชิงเทคนิคและการพัฒนาซอฟต์แวร์ เห็นได้จากบางรายได้รับโจทย์ไปก็สามารถสร้างโมเดลและเทคโนโลยีกลับมานำเสนอได้ในเวลาที่รวดเร็ว แต่ยังขาดปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการหาตลาดรองรับนวัตกรรม การหาเงินทุน การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง รวมทั้งกระแสของ PropTech เองที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุน" นายชาคริต กล่าว

 

นอกจากนี้ การพัฒนาสตาร์ทอัพกลุ่ม PropTech จะช่วยยกระดับศักยภาพของ Home Service Application ของแสนสิริ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่เป็น ลูกบ้านของแสนสิริกว่า 1.4 หมื่นราย ใน 155 โครงการ โดยมีแผนที่จะเพิ่มฟังก์ชั่นให้ครอบคลุมมากขึ้น และขยายตลาดผู้ใช้สู่วงกว้างทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นสตาร์ทอัพที่เข้าสู่การพิจารณา มีเทคโนโลยีที่สนใจ อาทิ ซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้งานในด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยีสำหรับที่อยู่อาศัยในอนาคต เช่น Home Automation Security หรือ Home AI หรือระบบสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ ของบ้านด้วยเสียง ภาษาไทย ระบบ Preventive Maintenance ภายในบ้าน ฯลฯ การพัฒนาหุ่นยนต์มาใช้สำหรับงานก่อสร้าง ซ่อมบำรุง ความปลอดภัยของอาคาร รวมถึงการให้บริการในด้านต่างๆ แก่ผู้อยู่อาศัยการใช้ Electric Vehicles (EV) หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเมือง เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์