อสังหาฯเดี้ยงกำลังซื้อหดQ1โอนวูบ40%-จดทะเบียนลด55%
Loading

อสังหาฯเดี้ยงกำลังซื้อหดQ1โอนวูบ40%-จดทะเบียนลด55%

วันที่ : 18 พฤษภาคม 2560
อสังหาฯเดี้ยงกำลังซื้อหดQ1โอนวูบ40%-จดทะเบียนลด55%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยข้อมูลที่อยู่อาศัยเขตกรุงเทพฯปริมณฑลไตรมาส 1/60 พบยอดโอนกรรมสิทธิ์ลด 40% เหลือ 28,910 หน่วย ห้องชุดมากสุด 13,303 หน่วย ขณะที่ยอดจดทะเบียน 18,626 หน่วย ลดฮวบ 55% อาคารชุดลดมากสุด 81%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) พบว่า ในไตรมาสแรกปี 2560 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยรวม 28,910 หน่วย ลดลง 40% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 48,073 หน่วย จากปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะที่อยู่อาศัย จำนวน 28,910 หน่วย แบ่งเป็นยอดโอน มกราคม จำนวน 7,741 หน่วย, กุมภาพันธ์ จำนวน 8,818 หน่วย และมีนาคม จำนวน 12,351 หน่วย

ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯปริมณฑล ในไตรมาสแรกปี 2560 แบ่งเป็นห้องชุดมากที่สุด จำนวน 13,303 หน่วย (คิดเป็น 46% ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน) รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 9,393 หน่วย (คิดเป็น 33%) บ้านเดี่ยว 4,157 หน่วย (คิดเป็น 14%) อาคารพาณิชย์ 1,088 หน่วย (คิดเป็น 4%) ที่เหลือเป็นบ้านแฝด 969 หน่วย

มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย มีมูลค่ารวมกัน 78,771 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ประมาณ 32% ซึ่งมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 116,250 ล้านบาท แบ่งเป็น ห้องชุดมีมูลค่าการโอน 35,591 ล้านบาท (คิดเป็น 45% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน) บ้านเดี่ยวมีมูลค่าการโอน 19,141 ล้านบาท (คิดเป็น24%) ทาวน์เฮาส์มีมูลค่าการโอน 16,727 ล้านบาท (คิดเป็น 21%) อาคารพาณิชย์มีมูลค่าการโอน 4,395 ล้านบาท (คิดเป็น 6%) และบ้านแฝดมีมูลค่าการโอน 2,917 ล้านบาท (คิดเป็น 4%)

การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด มีมากที่สุดในกรุงเทพฯ 9,962 หน่วย จังหวัดสมุทรปราการ 1,334 หน่วย จังหวัดนนทบุรี 952 หน่วย จังหวัดปทุมธานี 822 หน่วย จังหวัดสมุทรสาคร 127 หน่วย และจังหวัดนครปฐม 106 หน่วยพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ (โอนจากนิติบุคคล) มากที่สุด ในไตรมาสแรก ปี 2560 ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอเมือง นนทบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตจตุจักร และอำเภอธัญบุรี

ส่วนพื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมือสอง (โอนจากบุคคลธรรมดา) มากที่สุด ได้แก่ เขตพระโขนง เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตจตุจักร และเขตบางเขน ตามลำดับพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวขายใหม่มากที่สุด ในไตรมาสแรก ปี 2560 ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอลำลูกกา อำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรสาคร และเขตสายไหม ส่วนพื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวมือสองมากที่สุด ได้แก่ เขตบางกะปิ เมืองสมุทรปราการเขตบางเขน อำเภอลำลูกกา และอำเภอบางใหญ่ ตามลำดับ

พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์ขายใหม่มากที่สุด ในไตรมาสแรก ปี 2560 ได้แก่ อำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางบัวทอง เขตคลองสามวา และเขตประเวศ ส่วนพื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์มือสองมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางบัวทอง อำเภอคลองหลวง เขตบางเขน และเขตบางกะปิ ตามลำดับ

บ้านสร้างเสร็จจดทะเบียนลดฮวบ 55%

สำหรับที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) พบว่า ในไตรมาสแรก ปี 2560 มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ทุกประเภทรวมกัน 18,626 หน่วย ลดลง 55% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 41,170 หน่วย จากจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ จำนวน 18,626 หน่วย แบ่งเป็นยอดจดทะเบียนในแต่ละเดือนดังนี้ มกราคม จำนวน 3,836 หน่วย, กุมภาพันธ์ จำนวน 4,607 หน่วยและมีนาคม จำนวน 10,183 หน่วย  แบ่งเป็นในเขตกรุงเทพฯ 7,888 หน่วย ลดลง 55% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 และใน 5 จังหวัดปริมณฑลรวมกันจำนวน 10,738 หน่วย ลดลง 55% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 แบ่งเป็นหน่วยห้องชุด 5,295 หน่วย (คิดเป็น 28% ของหน่วยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ทั้งหมด) บ้านเดี่ยว 8,918 หน่วย (คิดเป็น 48%) ทาวน์เฮาส์ 2,343 หน่วย (คิดเป็น 13%) อาคารพาณิชย์พักอาศัย 1,543 หน่วย (คิดเป็น 8%) และบ้านแฝด 527 หน่วย (คิดเป็น 3%)

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก ปี 2560 ไม่มีอาคารชุดเอื้ออาทรสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ของการเคหะแห่งชาติเลย และจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนประเภทโครงการอาคารชุด มีจำนวนลดลงสูงถึง 81% ในขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนการจดทะเบียนลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ตัวเลขยอดโอนกรรมสิทธิ์และยอดจดทะเบียนปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 เนื่องจากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559 มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์เพื่อรับมาตรการลดค่าธรรมเนียมของรัฐบาล ทำให้มีตัวเลขที่สูงกว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

 

 

 

ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ