จดทะเบียนธุรกิจปี59พุ่งเขตศก.พิเศษตากแชมป์
Loading

จดทะเบียนธุรกิจปี59พุ่งเขตศก.พิเศษตากแชมป์

วันที่ : 18 เมษายน 2560
จดทะเบียนธุรกิจปี59พุ่งเขตศก.พิเศษตากแชมป์

นักลงทุนไทยและต่างชาติยังแห่จดทะเบียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพิ่มขึ้น 15% ขยายตัวสูงกว่าจดทะเบียนนิติบุคคล จัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ระบุธุรกิจก่อสร้างยังมาแรงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าแนวโน้มการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 2559 มีจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มจากปีก่อนประมาณ 15% ในจำนวน 784 ราย จากเดิม 684 ราย โดยเป็นอัตราส่วนการขยายตัวที่สูงกว่าจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7% ในจำนวน 64,280 ราย จากเดิม 60,147 ราย

ดังนั้น ภาพรวมจะเห็นได้ว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจตามประกาศคณะกรรมการ กนพ. ที่ 1/2558 และ 2/2558 รวมจำนวน 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งออกเป็นระยะที่ 1 ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด และสงขลา รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ประกอบไปด้วย เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส ช่วยส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีนิติบุคคลจดทะเบียนเพิ่มขึ้น สูงที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก โดยมีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32 ราย  ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม มีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25 ราย เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย มีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22 ราย ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งลดลงเพียงเล็กน้อย ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว และหนองคาย  แนวโน้มการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนใหญ่พบว่า เป็นธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปสูงสุด จำนวน 113 ราย คิดเป็น 14% ของธุรกิจทั้งหมดที่จัดตั้ง ในพื้นที่ เนื่องจากการลงทุนในพื้นที่จำเป็นต้องมีการจัดเตรียมพื้นก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อรองรับการลงทุนในกิจกรรมต่างๆ ที่จะตามมาใน ภายหลัง เช่น การเตรียมพื้นที่ เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานและโรงงาน รวมถึงก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ดังนั้น จึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างอาคารจำนวนมากเข้ามาลงทุนในพื้นที่ เป็นถือเป็นสำคัญที่ก่อให้เกิดการเริ่มต้นขยายการลงทุนสู่ธุรกิจประเภทอื่น

นางสาวบรรจงจิตต์ ยังกล่าวอีกว่า การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งยังพบว่ามีการลงทุนของชาวต่างชาติมีมูลค่า ทั้งสิ้น 2,779.45 ล้านบาท โดยสัญชาติที่มีการลงทุนสูงที่สุดคือ มาเลเซีย มูลค่า 1,535.24 ล้านบาท คิดเป็น 55% ของการลงทุนโดย ชาวต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา ด้วยมูลค่า 1,290.57 ล้านบาท คิดเป็น 84 % ของการลงทุนโดยชาวมาเลเซีย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ