แห่โอนอสังหาทะลุ8แสนล.
Loading

แห่โอนอสังหาทะลุ8แสนล.

วันที่ : 20 กุมภาพันธ์ 2562
ศูนย์ข้อมูลเปิดตัวเลขยอดโอนอสังหาฯทั่วประเทศปี 61 เกือบ 3.7 แสนยูนิต มูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่แตะ 7 แสนล้านบาท โตเทียบเท่าปี 2558 ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เผยประชาชนเร่งโอนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วต่อเนื่องไตรมาสแรกปีนี้เพื่อหนีแอลทีวีดอกเบี้ย
          ปชช.หนีดอกเบี้ยขยับ-เกณฑ์แอลทีวี

          คาดยอดพุ่งต่อเนื่องถึงไตรมาสแรก62

          ศูนย์ข้อมูลเปิดตัวเลขยอดโอนอสังหาฯทั่วประเทศปี'61 เกือบ 3.7 แสนยูนิต มูลค่ารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่แตะ 7 แสนล้านบาท โตเทียบเท่าปี 2558 ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เผยประชาชนเร่งโอนตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้วต่อเนื่องไตรมาสแรกปีนี้เพื่อหนีแอลทีวีดอกเบี้ย

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2561 อยู่ที่ 363,711 ยูนิต ขยายตัวจากปี 2560 ประมาณ 15.4% มูลค่ารวม 839,496 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2560 ที่ 24.5% ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวและเติบโตใกล้เคียงกับปี 2560 แต่อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงปลายปีหรือไตรมาส 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) ปี 2561 เริ่มมีการเร่งโอนมากขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือดอกเบี้ยขาขึ้น และนโยบายการควบคุมการปล่อยสินเชื่อต่อหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แอลทีวี) โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาสนี้มีจำนวน 98,500 ยูนิต เพิ่มขึ้นถึง 7.7% คิดเป็นมูลค่ารวม 247,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 25.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 โดยอัตราการเติบโตดังกล่าวใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2558 หรือเมื่อ 16 ไตรมาสก่อนหน้า ที่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

          "พอมีความชัดเจนว่าดอกเบี้ยกำลังจะอยู่ช่วงขาขึ้นและธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศบังคับใช้เกณฑ์แอลทีวีในวันที่ 1 เมษายน 2562 ทำให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินจับมือเพื่อเร่งโอนเพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ใหม่ และการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวมีต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกปี 2562 ที่คาดว่าจะมีการเร่งโอนอีกไม่น้อยกว่า 45,000 ยูนิต และมูลค่าไม่น้อยกว่า 142,000 ล้านบาท" นายวิชัยกล่าว และว่า สำหรับตัวเลขการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของปี 2561 ทั้งปีอยู่ที่ 717,557 ล้านบาท ขยายตัวจากปี 2560 ที่ 13.2% โดยไตรมาส 4/2560 มีการปล่อยสินเชื่อได้มากถึง 207,462 ล้านบาท และมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.795 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปี 2560 อัตรา 7.7% ส่วนคาดการณ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2562 น่าจะใกล้เคียงกับปี 2561

          นายวิชัยกล่าวว่า สำหรับทิศทางการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 หากทุกอย่างเป็นไปตามคาดการณ์จะมีการปรับฐานไปสู่ภาวะปกติคือเท่ากับปี 2560 ขยายตัวลดลงจากปี 2561 ประมาณ 10% หรือมีการเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 112,000 ยูนิต ลดลง จากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 118,000 ยูนิต ส่วนยอดโอนทั่วประเทศในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 307,000 ยูนิต มูลค่ารวมประมาณ 747,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง และเศรษฐกิจไม่ได้ดีอย่างที่คาดอาจจะทำให้ลดลงอีก 5% นอกจากนี้ในส่วนของการเปิดตัวโครงการใหม่คาดว่าผู้ประกอบการจะเริ่มเปิดในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ส่วนไตรมาส และ 2 ผู้ประกอบการจะเร่งระบายสต๊อกเดิม

          นายวิชัยกล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลยืนยันว่าจะไม่เกิดฟองสบู่ อสังหาริมทรัพย์แน่นอน แต่ยอมรับว่าบางทำเลอาจจะมีโอเวอร์ซัพพลายบ้าง คือ 1.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง 2.เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-บางแค 3.สายสีแดงเข้มหัวลำโพงถึงมหาชัย 4.สายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และ 5.สายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการบางปู โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เวลาระบายสต๊อกให้หมดได้ประมาณ 25-50 เดือน