ศูนย์ข้อมูลคาดเข้มกู้อสังหาฯฉุดสินเชื่อปล่อยใหม่ชะลอตัว
Loading

ศูนย์ข้อมูลคาดเข้มกู้อสังหาฯฉุดสินเชื่อปล่อยใหม่ชะลอตัว

วันที่ : 21 กุมภาพันธ์ 2562
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินสินเชื่อปล่อยใหม่ปี 62 ลดลง 0.7% เทียบปีที่ผ่านมา เหตุ ธปท.เข้มแบงก์พาณิชย์คุมสินเชื่อ สกัดเอ็นพีแอล ขณะดีมานด์ซัพพลาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์แนวโน้ม ชะลอตัว
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินสินเชื่อปล่อยใหม่ปี 62 ลดลง 0.7% เทียบปีที่ผ่านมา เหตุ ธปท.เข้มแบงก์พาณิชย์คุมสินเชื่อ สกัดเอ็นพีแอล ขณะดีมานด์ซัพพลาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์แนวโน้ม ชะลอตัว

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าว ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ถึง แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2562 ว่า ผลจากมาตรการควบคุม สินเชื่อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น จะส่งผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยให้ชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยในด้านอุปสงค์ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 17.9% และ 15.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2561 และคาดว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศจะลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปี 2561  ส่วนอุปทานโครงการเปิดตัวใหม่คาดว่าจะลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 แต่ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 เนื่องจากการขยายตัวของโครงการที่เปิดขายใหม่ในปี 2560- 2561  สำหรับแนวโน้มที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในปี 2562 ศูนย์ข้อมูลฯ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 112,044 หน่วย เป็นประเภทบ้านจัดสรรประมาณ 41.1% และเป็นอาคารชุด 58.9% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 100,800 ถึง 123,250 หน่วย ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 118,271 หน่วย สำหรับแนวโน้มการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯปริมณฑลในปี 2562 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 161,457 หน่วย (มีช่วง คาดการณ์อยู่ประมาณ 145,300 ถึง 177,600 หน่วย) และมีมูลค่า 479,904 ล้านบาท

          ส่วนในปี 2561 ทั้งปี สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มีมูลค่า 702,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 633,990 ล้านบาท โดย แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั้งประเทศในปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 697,814 ล้านบาท โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ ประมาณ 692,600 ถึง 701,900 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2561 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั้งระบบทั่วประเทศ มีมูลค่า 3,795,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมี มูลค่า 3,525,103 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคล คงค้างทั่วประเทศ ณ สิ้นปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,145,000 ล้านบาท โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 4,102,700 ถึง 4,187,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีมูลค่า 3,795,058 ล้านบาท
 
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ