กรมโยธาจี้ผังภาคมหานครหนุนจัดรูปที่ดินสถานีขนส่ง
Loading

กรมโยธาจี้ผังภาคมหานครหนุนจัดรูปที่ดินสถานีขนส่ง

วันที่ : 3 มิถุนายน 2562
กรมโยธาธิการและผังเมืองจี้ผังภาคมหานครแบบไร้รอยต่อ สนับสนุนจัดรูปที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้สร้างส่วนขยายในอนาคต
          กรมโยธาธิการและผังเมืองจี้ผังภาคมหานครแบบไร้รอยต่อ สนับสนุนจัดรูปที่ดินรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์หารายได้สร้างส่วนขยายในอนาคต

          นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “ผังภาคมหานครไร้รอยต่อ มิติใหม่การพัฒนาพื้นที่สู่ความยั่งยืน” ว่ามีเป้าหมายเพื่อระดมความคิดจากผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างยั่งยืน และสามารถขับเคลื่อนแผนพัฒนาไปสู่ทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือภาคมหานคร ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

          ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในกรุงเทพมหานคร มีการขยายตัวจนเกือบเต็มพื้นที่ที่ผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นพื้นที่เมืองและแผ่ขยายต่อเนื่องไปยังรอยต่อจังหวัดปริมณฑลโดยรอบ นอกจากนี้ในอนาคตภาคมหานครยังมีประเด็นท้าทายที่ต้องเผชิญ ดังเช่น มหานครต่างๆทั่วโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่เหมาะสม แต่ด้วยความได้เปรียบของทำเลที่ตั้ง ภาคมหานครเป็นศูนย์กลางแกนการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก กับประเทศอาเซียน อินเดียและจีน และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ของประเทศ คือ EEC ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ อีกทั้ง ทางกรมเห็นความสำคัญของการพัฒนาการแก้ไขปัญหาของภาคมหานคร จึงดำเนินโครงการวางผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2580 เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องไร้รอยต่อ สำหรับผังดังกล่าวไม่ใช่ผังบังคับตามกฎหมาย เป็นผังนโยบายที่จะต้องส่งต่อให้กับ กทม.เพื่อประกอบการพิจารณาใช้ข้อมูลต่อไป

          นายมณฑล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อดำเนินการวางผังภาคกรุงเทพ มหานครและปริมณฑลแล้วเสร็จ ทางกรมจะนำผังภาคเข้าประชุมคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หน่วยงานรัฐไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่จัดทำผังเมืองรวม จะนำผังภาคนี้ไปเป็นกรอบในการวางและจัดทำผังเมืองรวมต่อไป ภาพรวมของการวางผังภาคมหานครนั้น เมื่อนำแต่ละผังมาเชื่อมต่อกันจะพบว่ามีความขัดแย้งของการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น เขตรอยต่อพื้นที่พงษ์เพชรกับเขตพื้นที่รอยต่อจังหวัดนนทบุรี หรือเขตดอนเมือง-รังสิต ก็จะเชื่อมเป็นผืนเดียวกันมากขึ้นจึงมอบหมายให้ไปดำเนินการจัดทำผังนโยบายในการที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในการวางผังเมืองตลอดจนเขตปริมณฑลให้สอดคล้องกัน

          "ในช่วงที่ผ่านมาทางกรมมีความพยายามผลักดันพื้นที่การพัฒนาเมืองใหม่จำนวน 2 ครั้ง คือที่นครนายกและท่าตะเกียบ แต่ก็ติดปัญหาข้อกฎหมาย โดยมีการเสนอออก พ.ร.บ.เมืองใหม่เกิดขึ้น และติดปมปัญหากรณีการเวนคืนเพื่อนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นหากเทียบกับพื้นที่ กทม. หากไปเริ่มในพื้นที่ใหม่น่าจะทำได้มากกว่า ปัจจุบันเรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายในประเทศไทย แต่ในอนาคตคงจะมีมากขึ้น” นายมณฑล กล่าว
 
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ