ธปท.ชี้เศรษฐกิจหดบาทผันผวน ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง-อสังหาฯค้างสต๊อก-เก็งกำไรดอกเบี้ย
Loading

ธปท.ชี้เศรษฐกิจหดบาทผันผวน ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง-อสังหาฯค้างสต๊อก-เก็งกำไรดอกเบี้ย

วันที่ : 3 มกราคม 2563
ธปท.ระบุการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง อสังหาริมทรัพย์ค้างสต๊อก และเก็งกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย เกิดความเสี่ยงและเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต
          ธปท.ระบุการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ หว่งหนี้ครัวเรือนพุ่ง อสังหาริมทรัพย์ค้างสต๊อก และเก็งกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย เกิดความเสี่ยงและเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ส่วนค่าบาทยังผันผวนเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกในเดือนพฤศจิกายน

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าระดับศักยภาพจากการส่งออกที่ลดลงเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับดีขึ้นในปี 2563 ขณะที่ความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ในการประชุมวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี และมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี

          ทั้งนี้ ในการประชุมล่าสุด คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสองครั้งในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย ด้านค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น แต่คณะกรรมการฯ ยังคงกังวลต่อเงินบาทที่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยน เงินเพื่อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม สำหรับการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาตรการ microprudential และมาตรการ macroprudential ควบคู่กับมาตรการเชิงโครงสร้าง เช่น การปรับโครง สร้างหนี้ โดยใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสมและตรงจุด

          ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของข้อมูลทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป (data dependent) โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม รวมทั้งจะติดตามปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

          เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ขยายตัวชะลอลงในปี 2562 แต่จะเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามปริมาณการค้าโลก การฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ และความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกอย่างไม่เป็นทางการ คณะกรรมการฯ จึงปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าลง เป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2562 และคงข้อสมมติการขยายตัวในปี 2563 ที่ร้อยละ 2.7 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐานตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะอยู่ในระดับต่ำลงเป็นเวลานานขึ้น (lower for longer) จะมี ส่วนสนับสนุนการก่อหนี้และเพิ่มความเสี่ยงของพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ การกีดกันทางการค้ายังมีความไม่แน่นอนโดยอาจยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจรุนแรงและขยายวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต การส่งออก และปริมาณการค้าโลก รวมถึงความเชื่อมั่นและการลงทุนใน ระยะต่อไป

          ธนาคารกลางส่วนใหญ่มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย (dovish) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม 2562 เป็นร้อยละ 1.50-1.75 ทั้งนี้คาดว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2563 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายน 2562 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่นในภูมิภาคที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลง อาทิ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA)

          ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย ภาวะการเงินไทยโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน และยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ EMs อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของ ธพ. บางประเภทปรับลดลงสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกที่ดีขึ้นหลังการบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างไม่เป็นทางการ การระดมทุนของภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง

          ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนตามภาวะเศรษฐกิจและความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้านเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากสิ้นไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี เงินบาทเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางและสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้น หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกในเดือนพฤศจิกายน สำหรับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อน

          ระบบการเงินมีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต ได้แก่ (1) ความสามารถในการบริหารสภาพ คล่องและการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่ลดลงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (2) อุปทานคงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะอาคารชุด เริ่มส่งผลให้ราคาอาคารชุดปรับลดลง และ (3) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งในและต่างประเทศที่จะอยู่ในระดับต่ำลงเป็นเวลานานขึ้น (lower for longer) ส่งผลให้พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่