ลีสซิ่ง-อสังหาฯ-ปันผล วิ่งคึกรับลดดอก0.25% แนะเลี่ยงหุ้นแบงก์ใหญ่ หันเล่น TISCO-KKP แทน
Loading

ลีสซิ่ง-อสังหาฯ-ปันผล วิ่งคึกรับลดดอก0.25% แนะเลี่ยงหุ้นแบงก์ใหญ่ หันเล่น TISCO-KKP แทน

วันที่ : 6 กุมภาพันธ์ 2563
โบรกฯ แนะลงทุนหุ้นกลุ่มลีสซิ่ง อสังหาฯ และปันผลสูง รับกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% และให้เลี่ยงหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่กระทบหนัก
          โบรกฯ แนะลงทุนหุ้นกลุ่มลีสซิ่ง อสังหาฯ และปันผลสูง รับกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% และให้เลี่ยงหุ้นแบงก์ขนาดใหญ่กระทบหนัก หันมาเล่นแบงก์เล็ก TISCO และ KKP แทน คาดเงินจากตลาดตราสารหนี้หนีซบตลาดหุ้น ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลให้ลงมาต่ำสุดในรอบ 20 ปี ด้าน KBANK นำร่องลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% และเงินฝากประจำลง 0.05%-0.25% มีผล 6 ก.พ.นี้

          นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาศ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ต่อปี เป็น 1.00% ต่อปี โดยมีผลทันที ถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2543 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่เคยมองไว้ และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้น โดยสิ้นปี 2562 ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ระดับ 2.8%

          บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุ ได้ทำการคัดกรองหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และยังมีแรงหนุนหากมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง  เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราคงที่สูง (ยกเว้น IFS) ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของกลุ่มฯ ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้หรือเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ (ธ.พ.) ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยปรับตัวลดลงทำให้ต้นทุนของกลุ่มเช่าซื้อถูกลง โดยแนะนำ MTC (เป้าราคา 71 บาท) มากสุดในกลุ่มฯ

          ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังเติบโตได้ จากความต้องการใช้เงินเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจะทยอยลดระดับลง จากการออกหุ้นกู้ใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า 3.5% เพื่อเพิ่มการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ รวมถึงทดแทนหุ้นกู้ที่ใกล้จะครบกำหนดในปี 2563 มูลค่ารวมกว่า 8.7 พันล้านบาท ที่มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงระหว่าง 3.6-4.2%

          ด้านกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ขนาดเล็ก) มีโครงสร้างสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่สูง แต่มีโครงสร้างเงินฝากบางส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวจึงเป็นบวกต่อ NIM อาทิ TISCO (เป้าหมาย 91 บาท) และ KKP (เป้าหมาย 79.5 บาท)

          ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำภาระในการผ่อนชำระต่องวดของผู้กู้ที่อยู่อาศัยลดลง ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และได้ Sentiment เชิงบวกจากมาตรการกระตุ้น คือ บ้านดีมีดาวน์ รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จากเดิม 2% ของราคาประเมิน และค่าจดจำนองจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยดีต่อ LH (เป้าหมาย 12.30 บาท ), PSH (เป้าหมาย 18.5 บาท) และ AP (เป้าหมาย 8.9 บาท)

          ส่วนกลุ่มหุ้นปันผลสูง การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจะกดดันให้ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ลดลง  ในทางตรงข้ามมีโอกาสที่เม็ดเงินจะโยกย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น หุ้นปันผลสูง รวมถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนอสังหาฯ ชื่นชอบ MCS, PSH, KKP, DIF และ POPF อีกทั้งหุ้นปันผลมักจะ Outperform ตลาดได้ดีในช่วงก่อนการขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 2 เดือน โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 8% และมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกกว่า 80%
          Top Pick เลือก MCS, KKP น่าจะเป็นทางเลือกในการลงทุนระดับต้น ๆ ในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ

          ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า เพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงขาลงที่เพิ่มขึ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.00%

          ด้านผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์นั้นขึ้นอยู่กับว่าธนาคารจะตอบสนองอย่างไร 1. กรณีธนาคารพาณิชย์ลด MLR และ MOR ลง 0.25%และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเช่นกัน แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของบัญชีออมทรัพย์ต่ำแล้ว ดังนั้นคาดว่าจะลดเพียง 0.1% ในสถานการณ์นี้ และทำให้เห็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิปีนี้ที่จะลดลง 0.6% ในBAY ลดลงถึง 6.1%ในBBLขณะที่ KKP มีผลกระทบเชิงบวก 1.5%

          2. กรณีแบงก์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยโดยรวม 0.125%ในขณะที่อัตราเงินฝากโดยรวมจะลดลง 0.1% ผลกระทบในกรณีนี้จะน้อยที่สุดกำไรลดลง 0.4% ใน BAY 3.0% ใน BBL และ KKP จะเห็นค่าเป็นบวก

          3. กรณีที่กระทบมากสุด แบงก์ลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (MLR / MOR / MRR) 0.25%โดยไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากผลกระทบจะรุนแรง กระทบผลกำไรของแบงก์ลดลง 7.3% ถึง 11.5% เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น KKP กระทบเพียง 1.8%

          อย่างไรก็ตามยังคงคำแนะนำ KKP เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม โดยทั่วไปแล้วสินเชื่อรายย่อยจะใช้เวลามากกว่า (สินเชื่อธุรกิจ) เพื่อปรับอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นธนาคารที่มีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยควรมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในรอบการลดอัตราดอกเบี้ย

          ด้วยเหตุนี้จึงเลือก KKP (สินเชื่อรายย่อยคิดเป็น 61% ของสินเชื่อรวม) เป็นอันดับสูงสุดของเรา นอกจากนี้วัฏจักร NPL ในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้นในกลุ่ม SME / องค์กร ในขณะที่ NPL ในรถยนต์มีเสถียรภาพมาก คุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นยังส่งผลให้หุ้นของ KKP ดีกว่าธนาคารขนาดใหญ่ในช่วงนี้

          * KBANK นำร่องลดดอกเบี้ย

          นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ธนาคารฯ นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับลูกค้าบุคคล และลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลง 0.25%  จากเดิม 6.87%เป็น 6.62%เพื่อตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่มีความเปราะบางจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคล

          สำหรับในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา แต่มีการปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.10%-0.12% และเงินฝากประจำลง 0.05%-0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2563
 
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ