ซีซีพี รับอานิสงส์ อีอีซี ธุรกิจคอนกรีตโต20%
Loading

ซีซีพี รับอานิสงส์ อีอีซี ธุรกิจคอนกรีตโต20%

วันที่ : 23 มีนาคม 2563
นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นมาตรการที่สำคัญในการกระตุ้น อุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่ภาคตะวันออก
          วัชร ปุษยะนาวิน

          นับตั้งแต่รัฐบาลผลักดันนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เริ่มเห็นความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งผลให้ ภาคเอกชนมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จนถึง การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลบวก ต่อธุรกิจการก่อสร้างภายในอีอีซี เป็นวงกว้าง  ตั้งแต่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กไปจนถึง ขนาดใหญ่ตลอดจนซัพพลายเชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้

          อาทิตย์ ทีปกรสุขเกษม กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP เปิดเผยว่า นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นมาตรการที่สำคัญในการกระตุ้น อุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยในช่วงแรกที่รัฐบาลผลักดันนโยบาย อีอีซี ภาคเอกชนยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างมากนัก

          ต่อมาในช่วงปี 2562 เริ่มเห็นผล เป็นรูปธรรม มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และมีการลงในรายละเอียดอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะ ส่งเสริม 12 อุตสาหกรรม ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างในอีอีซีคึกคักมากขึ้น ทั้งงานก่อสร้างภาครัฐ และโครงการภาคเอกชนโดยเฉพาะการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆ ขึ้นมา โดยบริษัทฯ มีรายได้จากงานภาครัฐ ประมาณ 80% และงานภาคเอกชน 20%

          "แม้ปริมาณงานจะเพิ่มขึ้น แต่ผลกำไร ในอุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากแข่งขันรุนแรง"

          ผู้ผลิตคอนกรีตสามารถผลิตงาน หล่อคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จได้ เหมือนๆ กัน จึงทำกำไรได้ยาก ซึ่งหากมี ราคาสูงกว่าคู่แข่งนิดเดียว หรือส่งสินค้า ให้ผู้รับเหมาล่าช้าเพียงเล็กน้อยจะหันไปซื้อ จากรายอื่นทันที ทำให้ผู้ผลิตคอนกรีต มีอำนาจต่อรองต่ำและทำกำไรได้น้อย

          ดังนั้น บริษัทฯ จึงปรับปรุงการดำเนินงาน  โดยในธุรกิจหลักการผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานโครงสร้างงานระบบ ซึ่งมีสัดส่วน 80% ของรายได้ทั้งหมด ผลิตภัณฑ์จะเป็น คอนกรีตสำหรับงานโครงสร้าง และ งานสาธารณูปโภค ประเภททางหลวง ระบบระบายน้ำ โครงการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งบริษัทฯ เป็นอันดับ 1 ของการผลิตท่อคอนกรีต และสร้างท่อคอนกรีตใหญ่สุด 3.60 เมตรได้

          โดยธุรกิจนี้ได้ปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าในมาตรฐานทั่วไป หันไปสู่การผลิตตามความต้องการเฉพาะเจาะจงของลูกค้า หรือสินค้าคอนกรีตสำเร็จรูปที่ใช้เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญพิเศษ ในการผลิต ทำให้มีกำไรต่อชิ้นงาน สูงขึ้น

          "จากมาตรการปรับตัวของบริษัท ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากโครงการ อีอีซี ส่งผลให้รายได้ในธุรกิจนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้มีรายได้ประมาณ 600-700 ล้านบาท พอในปี 2562 มีรายได้ในธุรกิจนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านบาท คาดว่าในปี 2563 จะมี รายได้ 1.1 พันล้านบาท หรือโตประมาณ 20% แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะถดถอยจากปัญหาโรคโควิด-19 แต่ผลจาก การส่งเสริมโครงการอีอีซี คาดว่าจะรักษาการเติบโตได้ในระดับไม่ต่ำกว่า 10% อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565"

          ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วม กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการถนน รถไฟ โรงไฟฟ้าและคลังก๊าซ และยังได้เข้าร่วมกับ บริษัทที่ชนะการประมูลก่อสร้าง ท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบังเฟส 3 ในส่วนของคอนกรีตกำแพงกันคลื่น และคอนกรีตที่ใช้ถมทะเล และหากมีการลงนาม สัญญาโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ บริษัทฯ ก็จะเข้าไปหารือเพื่อร่วมดำเนินการ ต่อไป

          ในส่วนของธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จ ของบริษัทฯ สามารถรองรับงานก่อสร้างได้ทุกประเภท ทุกขนาดตั้งแต่งานก่อสร้างขนาดเล็ก ไปโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับประเทศ โดยธุรกิจนี้เหมือนกับอุตสาหกรรมคอนกรีตอื่น ที่มีการแข่งขันสูง

          ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้หันมาเน้นในงาน บริการโลจิสติกส์ขนส่งคอนกรีตมากขึ้น ซึ่งได้เพิ่มบริการด้านโลจิสติกส์ขนส่งคอนกรีต โดยให้บริการเช่ารถคอนกรีตเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ซึ่งทำให้บริษัท สามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และความสามารถในการทำกำไร สูงขึ้น ทำให้จากเดิมที่ธุรกิจนี้มีรายได้ติดลบกลับมาเป็นบวก

          "ในธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จระยะทางขนส่งจากโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาต่อคุณภาพของปูนคอนกรีต จึงเป็นข้อจำกัดในการแข่งขัน และขยายตลาด แต่จากการ ปรับตัวไปเน้นด้านธุรกิจขนส่งทำให้ บริหารจัดการระบบขนส่งได้ดีขึ้น รวมทั้งโรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จแต่ละแห่งก็มีความหนาแน่นของงานต่างกัน ทำให้ ในช่วงที่มีงานน้อยสามารถนำรถโม่ปูน เข้ามาแชร์ใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นรูปแบบธุรกิจนี้ จึงเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย"

          หลังจากที่โครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอีอีซีแล้วเสร็จ นิคมอุตสาหกรรมใหม่เปิดดำเนินงาน และ มีนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงาน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของที่พักอาศัย ทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านพักอาศัยต่างๆ ก็จะ ขยายตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของเราในระยะยาว แต่มองว่าอาจจะไม่ขยายตัวมาก เหมือนในอดีตที่มีการลงทุนโครงการ อิสเทิร์นซีบอร์ด ที่โรงงานแต่ละแห่งมีแรงงานหลักพันถึงหลายหมื่นคน

          แต่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ใช้แรงงานน้อย ทำให้ความต้องการที่พักอาศัยไม่เติบโตมากเหมือนในอดีต แต่ราคาต่อหน่วยอาจจะเพิ่มมากขึ้น เพราะแรงงานเหล่านี้มีรายได้สูง

          "ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตปีนี้ มีแนวโน้มดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนงานโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการอีอีซี ที่เริ่มทยอยดำเนินงานก่อสร้าง อีกทั้งยังมีโครงการของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เช่น งานถนน งานอาคารสำนักงาน ขณะที่การลงทุน ภาคเอกชนทรงตัว"

          "ในโครงการอีอีซี  ที่เริ่มทยอยก่อสร้าง  จะทำให้ความต้องการคอนกรีตเพิ่มขึ้น"