โขกภาษีที่ดินปี 64 ประเมินใหม่ พุ่ง เท่าตัว
Loading

โขกภาษีที่ดินปี 64 ประเมินใหม่ พุ่ง เท่าตัว

วันที่ : 3 กันยายน 2563
ภาษีที่ดินปี 64 ประเมินใหม่ พุ่ง เท่าตัว
          อปท.ป่วนอีกระลอกพฤศจิกายนเตรียมพร้อมทำบัญชีประเมินทรัพย์สิน เสียภาษีที่ดินปีงบประมาณ 64 หลังเพิ่งขยายเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินปี63 ไปเดือนตุลาคมหมาดๆ กรมส่งเสริมท้องถิ่น-กทม. ลั่น ภาษีใหม่บนที่ดินเดิม แพงทำช็อก จ่ายแพงกว่าเดิม 10 เท่า ราคาประเมินใหม่ บังคับใช้ปรับเพิ่ม 10-15%-ลดหย่อน 90% หมดอายุ ลุ้นขยายออกไปจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้น กลุ่มคนหน้าใหม่โวยลั่น

          องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แจ้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขยายเส้นตายชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากวันที่ 31 สิงหาคม ออกไปเป็นตุลาคม 2563 ในส่วนกรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ 50 เขต ครอบคลุมพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร หรือ ราว 937,500 ไร่ ดูเหมือนพื้นที่ไม่ใหญ่เมื่อเทียบหลายจังหวัดในภูมิภาค แต่จำนวนคนเข้าพื้นที่ ปริมาณสิ่งปลูกสร้างมีความหนาแน่นสูงจนต้องพัฒนาในแนวดิ่ง จากพื้นที่มีจำกัด  ราคาที่ดินแพง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรัฐ  รถไฟฟ้า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้การจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

          ทั้งนี้กทม.ยอมรับว่า การตรวจสอบไม่ครบโดยง่าย ยังคงต้องใช้ข้อมูลเก่าไปพราง แต่สำหรับการเสียภาษีปีงบประมาณ 2564 จะเริ่มเห็นเค้าลางฐานข้อมูลบางส่วนจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เคยยื่นเสียภาษีเข้ามาในรอบแรกของปีนี้ ขณะการเกิดของที่อยู่อาศัยยังเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ท้องถิ่นต้องสอดส่อง ไม่ให้เกิดการตกหล่น

          ทั้งนี้สำหรับการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามปีงบประมาณ 2563 ตามข้อเท็จจริงต้องชำระ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน  แต่ด้วยความไม่พร้อมจึงเลื่อนเรื่อยมา ประกอบกับเกิดสถานการณ์โควิด จึงลดการจัดเก็บภาษี ลง 90% และยังใช้ราคาประเมินที่ดิน กรมธนารักษ์เก่า ทำให้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังผ่อนชำระได้

          เจ้าพนักงานยังไม่ทันหายเหนื่อย คลายกังวล เดือนพฤศจิกายน 2563 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เตรียมรับบทหนักต่อเนื่อง เนื่องจากครบกำหนดการจัดทำบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อออกใบแจ้งสถานการใช้ประโยชน์ และออกใบประเมินตามราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินใหม่ ที่จะประกาศใช้ 1 เดือนมกราคม 2564  ซึ่งต้องนำไปชำระภาษีภายในเดือนเมษายน 2564 ตาม รอบปกติ ขณะการชำระภาษีที่ดิน ปีงบประมาณ 2563  ยังลูกผีลูกคน จนต้องขยายเวลาชำระออกไป จนถึงเดือนตุลาคม ข้ามปีงบประมาณ เกิดปรากฏการณ์น็อกรอบ ชนกับปีงบประมาณใหม่ที่จะถึงนี้

          อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ระบุ

          พรานบุญว่า ประชาชนกลุ่มเสียภาษีหน้าใหม่ ที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลายหลัง บนที่ดินเดิมโครงสร้างเดิม จะตื่นตกใจกับค่าใช้จ่าย ที่ต้องจ่ายเพิ่มจากเดิม 10 เท่า เมื่อเทียบจากภาษี ที่เพิ่งจ่ายไป คือ 1. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินปรับเพิ่มเฉลี่ย 10-15% โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าใหม่ อาจปรับเพิ่ม 50-100%  2. รัฐบาลไม่ขยายเวลาลดหย่อน ภาษี 90% เว้นแต่รัฐจะต่ออายุพระราชกฤษฎีกา (พรก.) ลดหย่อนต่อเนื่อง และชะลอการประกาศใช้ราคาประเมินใหม่ออกไป

          ขณะความคับข้องใจของกลุ่มคนเสียภาษีหน้าใหม่ แหล่งข่าวจากกทม. ยืนยันว่า มักมีประชาชนออกมาโต้แย้งกับทางสำนักงานเขตว่า คนที่ซื้อ ที่อยู่อาศัยหลายหลัง รวมกันไม่ถึง 5 ล้านบาท กลับต้องเสียภาษีเมื่อเทียบกับเศรษฐี บ้านไม่เกิน 50 ล้านบาท สูงทั้งมูลค่า และขีดความสามารถในการจ่ายภาษีแต่กลับไม่ได้รับผลกระทบ ที่สำคัญพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงหลักเกณฑ์ราคาประเมิน ว่าเหตุผลใด ถึงต้องจ่ายอัตรานี้ เพราะปัญหาใหญ่คือ กรมธนารักษ์ยังประเมินที่ดินรายแปลงไม่ครบ และเกณฑ์ประเมินสิ่งปลูกสร้างที่ออกมาไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้ สถานการณ์เศรษฐกิจยังย่ำแย่ ราคาประเมินที่ดินใหม่ยังไม่ควรประกาศใช้

          สอดคล้องกับนายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่ากทม. ย้ำว่า กทม.ได้รับผลกระทบทั้งสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจแย่ ไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งรัฐบาลลดหย่อนภาษีที่ดินลง 90% ทำให้กทม.มีรายได้เข้ามาไม่มาก ขณะคนยังสับสนภาษีที่ดินเจ้าหน้าที่ออกใบแจ้งประเมินราคาทรัพย์สินไม่ทัน และขยายการจัดเก็บออกไปอีก รายได้ที่จะเข้ากทม.ก็ถูกยืดออกไปอีก เชื่อว่า ราคาประเมินใหม่ น่าจะขยายออกไปอีกเพื่อลดผลกระทบประชาชน เฉกเช่น ราคาประเมินภาษีโรงเรือนและบำรุงท้องที่ที่ไม่เคยปรับใหม่ นับตั้งแต่ใช้ ปี 2521-2524

          สำหรับ เหตุผลของการเสียภาษีที่ดิน ซึ่งกทม.ยอมรับยังอ่อนประชาสัมพันธ์ประชาชนยังไม่ทราบและไม่เข้าใจ จึงเกิดปัญหาตามมาทั้งนี้อธิบายว่า ผู้ที่อยู่ในข่ายเสียภาษี คือ เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยยกเว้น ผู้ที่มีบ้านหลังเดียว ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลัก มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และบ้านหลังเดียวมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท เจ้าของห้องชุด ซึ่งหมายถึง เจ้าของกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ได้รับยกเว้นหากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทเช่นกัน ผู้ครอบครองทรัพย์สินทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐ เช่น ผู้เช่าที่ราชพัสดุ ที่แม้จะไม่ได้เป็นเจ้าของ แต่ก็มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย

          เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตรกรรมมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท หรือสิ่งปลูกสร้างไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาทเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อแสวงหาผลกำไร หมายถึง ผู้ที่ครอบครองบ้านหรือที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือแสวงหาผลกำไร เช่น ปล่อยเช่าบ้าน ที่ดิน คอนโด ฯลฯ โดยจะต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรก ผู้ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างรกร้างว่างเปล่า หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของที่ดินเปล่า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้นำไปทำประโยชน์ โดยต้องเริ่มเสียภาษีตั้งแต่มูลค่าหลักทรัพย์บาทแรก เป็นต้น
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ