ชี้โควิดขย่มอสังหาฯวิกฤติ
Loading

ชี้โควิดขย่มอสังหาฯวิกฤติ

วันที่ : 15 มกราคม 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผย โควิดพ่นพิษทำอสังหาฯ วูบ
          กำลังซื้อวูบห่วงติดลบ20% เอาไม่อยู่โครงการใหม่ยังร่วง

          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ได้ประเมินทิศทางการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 64 ภายหลังจากเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ โดยพบว่า หากโควิดแพร่ระบาดยืดเยื้อจะทำให้การเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในปีนี้ลดลงถึง 10,000 หน่วย เหลือเพียง 79,000 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าทั้งจะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัว 89,000 หน่วย แบ่งเป็นแนวสูง 36,000 -37,000 หน่วยและแนวราบ 52,000 หน่วย

          นอกจากนี้ ยังได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมในปีนี้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะโต 5-10% ระดับกลางตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5% และระดับแย่ที่สุดติดลบ 10% เท่ากับปี 63 ซึ่งเท่ากับว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯ ทั่วประเทศจะลดลงถึง 20% ซึ่งรุนแรงพอควรเพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54

          "ปี 64 จะติดลบถึง 10% ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปีนี้กำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจ มีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผล กระทบในแง่ของรายได้ต่อเนื่องมานานส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ได้รับผลกระทบรุนแรง"

          นายวิชัย กล่าวว่าผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วงไตรมาส 4 ปี 63 ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย โดยมีดัชนีเท่ากับ 46.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 42.8% แต่ยังคงต่ำกว่าค่ากลาง 50% ถึง 7 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 62 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการประกาศใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่อาศัยจนถึงปัจจุบัน

          ส่วนผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิดรอบสอง มีค่าเท่ากับ 54.4% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 52.9% สะท้อนว่าผู้ประกอบการฯ ขณะนั้นเริ่มมีความหวังต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 64 เนื่องจากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพบการแพร่ระบาดของโควิดรอบสองในปัจจุบัน ก็คาดว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการฯ ใน 6 เดือนแรกของปี 64 ปรับตัวลดลงกว่าผลสำรวจที่ตั้งไว้

          "ความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่เพิ่มขึ้นเพราะคาดว่าไทยและทั่วโลกจะนำวัคซีนป้องกันโควิดมาใช้อย่างกว้างขวางและคุมการแพร่ระบาดได้จนเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์มีค่าความเชื่อมั่นใน 6 เดือนข้างหน้าสูงถึง 59.7% มากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการฯ นอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีค่าดัชนีเพียง 46.5% ยังขาดความเชื่อมั่นพัฒนาธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย"
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ