กรมธนารักษ์ ยกเลิกเวนคืนที่ดินหมอชิต
Loading

กรมธนารักษ์ ยกเลิกเวนคืนที่ดินหมอชิต

วันที่ : 25 กุมภาพันธ์ 2564
ธนารักษ์ ย้ำ ไม่มีการเวนคืนที่ดินหมอชิต
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ลงพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเก่า เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต (หมอชิตคอมเพล็กซ์) พร้อมพบปะชาวบ้านในซอยวิภาวดี 5 เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์และการสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมทางออกไปยังถนนวิภาวดี เนื่องจากชาวบ้านคัดค้านการเวนคืนที่ดิน

          นายยุทธนากล่าวว่า กรมจะไม่มีการเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมทางเข้า-ออกไปยังถนนวิภาวดีอย่างแน่นอนขอให้ประชาชนมั่นใจได้แต่เมื่อประชาชนยังกังวลใจเนื่องจากพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินยังมีผลบังคับใช้ ก็จะไปหารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าดำเนินการยกเลิกอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน พร้อมรับข้อเสนอแนะกรณีการกำหนดลักษณะของรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าออกบริเวณดังกล่าวด้วย จากเดิมเป็นรถทัวร์หรือรถขนาดใหญ่แต่ล่าสุดได้ปรับเป็นรถขนาดเล็กหรือรถตู้แต่ชาวบ้านยังกังวลว่าจะให้รถทัวร์ขนาดเล็กไม่ใช่รถตู้จึงรับเรื่องไว้ และจะไปหารือกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ต่อไป

          "ยืนยันว่าไม่มีการเวนคืนที่ดิน แต่เพื่อความสบายใจ ก็ต้องรับเรื่องไปหารือตามกระบวนการกฎหมายต่อไป ขณะเดียวกันในสัญญาที่จะทำกับบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด (บีเคที) เพื่อพัฒนาและลงทุนโครงการก็ต้องไม่ระบุเงื่อนไขการเวนคืนที่ดิน หรือต้องลบออกไปเลย เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อทุกฝ่ายเข้าใจและตกลงร่วมกันได้ ใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะสามารถลงนามในสัญญากับบีเคทีได้ เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการ"

          สำหรับโครงการหมอชิตคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 63 ไร่ คาดว่าเอกชนจะต้องใช้เงินลงทุน 26,000 ล้านบาท ซึ่งหลังก่อสร้างเสร็จต้องส่งมอบสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กับรัฐบาลและเอกชนต้องจ่ายค่าเช่า,ค่าธรรมเนียมให้กับกรมธนารักษ์ 30 ปี ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเมื่อมีการลงนามสัญญา 500 ล้านบาท จากนั้นใน 5 ปีแรกของสัญญาต้องจ่ายให้อีกปีละ 6.1 ล้านบาท และตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป จ่ายปีละ 5 ล้านบาท และกรมธนารักษ์จะทำหนังสือถึงกทม.เพื่อทวงค่าเช่าจากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่บริเวณพื้นที่หมอชิตเก่ารวม 40 ไร่ ซึ่งกทม.นำไปเป็นอาคารจอดรถไฟฟ้าบีทีเอสและกทม.ได้ค้างค่าเช่ามาตั้งแต่ปี 2542 คิดเป็นเงิน 240 ล้านบาท

          นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ตัวแทนชุมชนหลังหมอชิตเก่ากล่าวว่า เมื่อภาครัฐมีแนวทางชัดเจนที่จะไม่เวนคืนเพื่อสร้างทางยกระดับเข้าออกก็เป็นแนวทางที่น่าพอใจทำให้ชาวบ้านยังอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้หลังจากนี้อยากให้ออกเป็นประกาศที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาครัฐ อื่นๆ