ต่างชาติซื้ออสังหาฯจิ๊บจ๊อย
Loading

ต่างชาติซื้ออสังหาฯจิ๊บจ๊อย

วันที่ : 9 เมษายน 2564
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปี63ยอดโอนแค่8พันยูนิต นักลงทุนจีนแชมป์นักช้อป
 
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศในปี 63 มีทั้งสิ้น 8,285 หน่วย ลดลงจากปีก่อนหน้า 35.3% และมีมูลค่า 37,716 ล้านบาท  ลดลง 25.5% จากปี 62 โดยสาเหตุที่ชาวต่างชาติโอนซื้อที่อยู่อาศัยในไทยลดลง มาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 63 และมีการล็อกดาวน์เดินทางเข้า-ออกประเทศ จนทำให้ชาวต่างชาติซื้อห้องชุด คอนโดมิเนียมลดน้อยลง โดยยอดไตรมาส 2 เหลือเพียง 1,162 หน่วย ลดลงไปถึง 61.1% แต่ต่อมา ในไตรมาสที่ 3-4 สถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลังผู้ประกอบการพยายามช่วยให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติสามารถทำการรับโอนกรรมสิทธิ์ได้

          สำหรับจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติมากที่สุดในปี 63 อันดับแรกคือกรุงเทพมหานคร มีสัดส่วนถึง 57.1% และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนมากถึง 73.5% อันดับสองชลบุรี มีสัดส่วน 24.9% อันดับสามภูเก็ตมีสัดส่วน 4.7% ส่วนอันดับรองลงมาเป็นจังหวัดสมุทรปราการ เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ ปทุมธานี ระยอง นนทบุรี และเชียงราย  ขณะที่ระดับราคาห้องชุดที่คนต่างชาติมีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท และราคา 2.01-3.00 ล้านบาท โดยทั้งสองระดับราคาจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน 23% แต่เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าการโอน พบว่า ห้องชุดระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท จะมีสัดส่วนมูลค่าสูงสุดถึง 28.5%

          ทั้งนี้ชาวจีนยังมีสัดส่วนโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด เมื่อเทียบกับสัญชาติของคนต่างชาติอื่น โดยในปี 63 มีสัดส่วนการโอน 63.4% อันดับสอง เป็นชาวรัสเซีย 4.7% อันดับสามเป็นชาวฝรั่งเศส 3.4% รองลงมาเป็นชาวสหราชอาณาจักรและอังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย"

          อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ เทียบกับคนไทยพบว่า ในปี 61 คนต่างชาติเคยมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์คิดเป็น 10.1% ของจำนวน หน่วยทั้งหมด และมีมูลค่า 16.3% ของมูลค่าทั้งหมด แต่ต่อมาในปี 62 มีสัดส่วนเหลือ 9.9% และมูลค่าเหลือ 15.5% และล่าสุดในปี 63 มีสัดส่วนต่ำสุด เหลือเพียง 6.8% ของจำนวนหน่วย และ 12.1% ของมูลค่า

          นายวิชัย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในปี 64 ได้คาดการณ์ไว้ 3 ระดับ คือ ระดับดีที่สุด คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะโต 5-10% ระดับกลางจะเติบโตเล็กน้อย 0.5% หรือ และระดับแย่ที่สุด จะหดตัวลง 10% ซึ่งเป็นระดับการหดตัวเท่ากับปี 63 โดยหากหดตัวลง 2 ปีต่อเนื่อง จะทำให้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ 2 ปีลดลงถึง 20% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 54 โดยปีนี้ภาพ รวมอสังหาอาจติดลบถึง 10% เพราะกำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจมีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ซื้อได้รับผลกระทบด้านรายได้ต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ดีมานด์ใหม่ของที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบรุนแรง

          ขณะที่เมื่อมองถึงแนวโน้มความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จากความคาดหวังการนำวัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มเห็นกำหนดการนำเข้ามาใช้ในประเทศชัดเจนมากขึ้น ซึ่งช่วยให้การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศอาจจะคลี่คลายลงได้ในระยะต่อไป