บ้านมือสองหนุน ชัชชาติ อุ้มคนมีบ้าน แปลงอพาร์ตเมนต์เป็นคอนโดฯ ผ่อนเช่าซื้อ
Loading

บ้านมือสองหนุน ชัชชาติ อุ้มคนมีบ้าน แปลงอพาร์ตเมนต์เป็นคอนโดฯ ผ่อนเช่าซื้อ

วันที่ : 30 พฤษภาคม 2565
ถ้ามองในเขต กทม. สินค้าที่ยังขาดแคลน คือ ทาวน์เฮาส์ ก็ต้องไปดูว่าจะมีทาวน์เฮาส์ตรงไหนที่จะนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยการทำทาวน์เฮาส์เก่าให้ดูมีความโมเดิร์นได้ ก็จะทำให้กลุ่มที่พอมีกำลังสามารถซื้อได้
          ผู้บริหารธุรกิจบ้านมือสอง หนุนแนวคิด "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ส่งเสริมผู้มีรายได้น้อย กลุ่มอาชีพอิสระ มีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ชงโมเดล นำอพาร์ตเมนต์ในเมือง ที่มีปัญหาเรื่องผู้เช่า ปรับเปลี่ยนใบอนุญาตเป็น "อาคารชุด" เปิดโอกาสผู้มีรายได้เช่าซื้อ สร้างเครดิตให้กับแบงก์ ก่อนยื่นกู้ผ่าน แถมแก้อพาร์ตเมนต์ล้นตลาดอีกทาง

          ประเด็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้สะดวกต่อการเดินทางและทำงานในกรุงเทพฯ แก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (คนใหม่) ประกาศ ไว้นั้น

          นายสมศักด์ ชุติศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคิวไอ (ประเทศไทย) จำกัด อดีตนายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยกับ ผู้สื่อข่าวว่า ในปัจจุบันที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาแพง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอพาร์ตเมนต์บางแห่งเริ่มเสื่อมโทรม ถ้าเป็นไปได้ ตัวอพาร์ตเมนต์เป็นโครงสร้างเก่า ทำอย่างไรที่จะนำอาคารที่ผู้เช่าได้หายไปในช่วงที่เกิดโควิด-19 และหาผู้เช่าได้ยากขึ้น นำมาปรับปรุงและให้ผู้มีรายได้น้อยสามาถเช่าซื้อได้ และยังช่วยลดภาระในเรื่องการเดินทาง ทำให้มีเงินเก็บเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าต้องอยู่ไกลที่ทำงาน เกิดความรีบเร่ง การจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายจะสูง ทำให้ต้องเดินทางด้วยรถโดยสาร หลายต่อ กลับมาดึก เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

          "เดิมใบอนุญาตประกอบการเป็นอพาร์ตเมนต์ ก็คงต้องเปลี่ยนมาเป็นใบอนุญาตแบบคอนโดมิเนียมแทน และให้คนที่มีรายได้น้อย ที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง ช่วงต้นๆ ก็เป็นแบบเช่า โดยแบ่งเงินบางส่วนมาเป็นเงินดาวน์ และเมื่อผ่านไป 3-5 ปี ผู้เช่าเหล่านี้ มีสิทธิ์ มีเงินออมพอแล้ว ก็จะเปิดโอกาสกู้กับสถาบันการเงินได้ มีสิทธิ์ซื้อมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นมาใหม่ ไม่ค่อยเหมาะกับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากราคาที่ดินแพงมาก"

          ดังนั้น ถ้าผู้ว่าฯ กทม.จะทำ จะดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ ก็ลองหาอพาร์ตเมนต์ซึ่งมีจำนวนมาก มาเป็นทางเลือก อีกทั้งยังสามารถช่วยส่งเสริมกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่อง Statement ที่จะให้แบงก์ดูได้ แต่ถ้าทำแบบเช่าซื้อ มีรายการเดินบัญชีให้แบงก์ดูได้ ในที่สุดสามารถผ่อนได้ทุกเดือน และยังมีเงินเก็บ ก็จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อได้

          นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามองในเขต กทม. สินค้าที่ยังขาดแคลน คือ ทาวน์เฮาส์ ก็ต้องไปดูว่าจะมีทาวน์เฮาส์ตรงไหนที่จะนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ โดยการทำทาวน์เฮาส์เก่าให้ดูมีความโมเดิร์นได้ ก็จะทำให้กลุ่มที่พอมีกำลังสามารถซื้อได้

          "เรามองว่า ทรัพย์สินรอการขายของแบงก์ที่อยู่ในเขตเมือง ก็ต้องไปดูว่า ทรัพย์มีอายุแค่ไหน ถ้าเป็นทรัพย์ใหม่ ก็ต้องไปมองใหม่ว่า ต้นทุนของแบงก์ที่ปล่อยดีเวลลอปเปอร์ ถ้าปล่อยสูง อย่างแบรนด์อสังหาฯ ดีๆ ก็จะทำให้ต้นทุนปล่อยสินเชื่อของแบงก์สูง แต่ต้องมาดูปัจจุบัน ราคาตลาดจริงๆ ควรเป็นเท่าไหร่ แบงก์ก็ไม่ควรถือไว้นานแล้ว ต้องปล่อยออกมา และให้ผู้ที่สนใจนำไปใช้ จะเกิดประโยชน์กว่า"
ข่าวบ้านมือสอง อื่นๆ