ครม.ทุ่ม 3.3แสนล้าน ปี66-70 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี
Loading

ครม.ทุ่ม 3.3แสนล้าน ปี66-70 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี

วันที่ : 29 มิถุนายน 2565
เรื่องอีอีซีเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลก็คือการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งรัฐบาลได้วางรากฐานไว้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561
          การลงทุนขนาดใหญ่ ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้าง เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของประเทศให้สามารถตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ให้ได้นั้นคือโครงการ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งครอบคลุมชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จากการเริ่มต้นเมื่อ ปี 2561 จนถึงปัจจุบันได้มี การทุ่มงบประมาณทั้งรูปแบบการใช้จ่ายตรง และการลงทุนร่วมเอกชนไปจำนวนมาก และล่าสุดเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลที่ประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบ การลงทุนเพิ่มอีก

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแผนดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมทั้งมาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยีในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับ โครงข่ายคมนาคม พ.ศ.2566-2570 ทั้งหมดรวม 77 โครงการ วงเงินรวม 3.37 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าในอนาคต อันใกล้นี้พื้นที่อีอีซีจะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญ ทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีทั้งของไทยและ ภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ซึ่งก็เป็นความภูมิใจ ของไทยทุกคนด้วย

          "เรื่องอีอีซีเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลก็คือการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งรัฐบาลได้วางรากฐานไว้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 ทั้งการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ระบบโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ ทั้ง ทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ หลายอย่างอยู่ในระหว่างดำเนินการ แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ต้องดำเนินการหาวิธีการที่เหมาะสม และให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ เพื่อยกระดับระบบการขนส่ง โลจิสติกส์ เพื่อรองรับเมืองใหม่ อัจฉริยะ อุตสาหกรรมอัจฉริยะ พลังงานสะอาด

          ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการ โครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ. 2566-2570 ในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วย โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมถึง มาตรการส่งเสริมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับ โครงข่ายคมนาคม 77 โครงการ กรอบวงเงินรวม 337,797 ล้านบาท แบ่งเป็น

          การลงทุนโดยภาครัฐ 53% จาก งบประมาณประจำปี เงินกู้ เงินรัฐวิสาหกิจ เงินกองทุน จำนวน 61 โครงการ วงเงินรวม 178,578 ล้านบาท และการลงทุนโดยเอกชน โครงการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน(พีพีพี) 16 โครงการ วงเงินรวม 159,219 ล้านบาท คิดเป็น 47%

          เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบคมนาคม สนับสนุนระบบโลจิสติกส์และระบบขนส่งสาะรณะแบบไร้รอยต่อให้ทันสมัย โดยสามารถลดต้นทุนด้าน การขนส่งของประเทศลงได้ประมาณ 16% ต่อปี เชื่อมต่อการเดินทางจากพื้นที่อีอีซี เข้าสู่พื้นที่ของกรุงเทพมหานครภายใน ระยะเวลา 1 ชั่วโมง ด้วยรถไฟความเร็วสูง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยโครงการในภาพรวม โดยโครงการแบ่งเป็นหลายระยะได้แก่

          1.ระยะเร่งด่วน เริ่มต้นปี 2566 จำนวน 29 โครงการ วงเงิน 125,599 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรอง เพื่อรองรับ รถไฟความเร็วสูง (HSR) ระยะที่ 1  (ชลบุรี-บ้านบึง-EECi และระยอง-บ้านค่ายEECi) โครงการก่อสร้างไฮท์ สปรีด แท็กซี่ เวย์ และแท็กซี่ เวย์ เพิ่มเติม ของ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาระบบ การจราจรขนส่งอัจฉริยะ โครงการจัดหาพลังงานสะอาด

          2.ระยะกลาง (2567-2570) จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 212,197 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงศรีราชา-ระยอง โครงการติดตั้ง โครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนมอเตอร์เวย์สาย 7 โครงการพัฒนา การให้บริการท่าเรือเชิงพาณิชย์ (ท่าเรือสัตหีบ) โครงการ Dry Port ฉะเชิงเทรา โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ระยะที่ 1

          ธนกร กล่าวว่าจากการลงทุนตามแผนในพื้นที่อีอีซีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ด้านเศรษฐกิจ เช่น เกิดการจ้างงานระหว่างก่อสร้าง ปี 2566-2570 เฉลี่ยประมาณ 20,000 ตำแหน่งต่อปี รวม 1 แสนตำแหน่งใน 5 ปี และปี 2571-2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่งต่อปี

          รวมทั้งเป็นการยกระดับ National Gateway สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ การลงทุน และการท่องเที่ยวของพื้นที่อีอีซีด้านสังคม เช่น มีระบบขนส่งมวลชน ที่ทันสมัย คุณภาพสูง เชื่อมการเดินทาง แบบไร้รอยต่อ สะดวกรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ และมีระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพที่ดี รองรับความต้องการ ใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม

          ส่วนผลประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ เช่น มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กิโลเมตร และมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 155 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี ท่าเรือแหลมฉบัง สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และรองรับรถยนต์ได้ 3 ล้านคันต่อปี และท่าเรือมาบตาพุดสามารถรองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านตันต่อปี

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกเหนือ จากแผนที่ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ในพื้นที่อีอีซี มีแผนระยะต่อจากปี 2571 เป็นต้นไป ที่จะ ดำเนินการอีก 29 โครงการ วงเงินรวม 420,319 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้เสนอรวมในแผนที่ ครม. เห็นชอบในครั้งนี้ มีโครงการที่อยู่ในแผน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยอง-จันทบุรีตราด (ช่วงระยอง-ตราด) กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบินในท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการทางหลวงระหว่างเมืองกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ

          ส่วนการพัฒนาระบบคมนาคมในอีอีซี ตั้งแต่ปี 2560-2565 ที่ผ่านมา มี 168 โครงการ จนถึงเดือนก.ย. 2564 ดำเนินการแล้วเสร็จ 83 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 36 โครงการ เปลี่ยนแปลงการดำเนินงานเป็นการร่วมทุนระหว่างรับและเอกชน(พีพีพี) 6 โครงการ ยกเลิก 8 โครงการ และยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 35 โครงการ คิดเป็นการดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่าง การดำเนินงานมากกว่า 70%

          โครงการสำคัญของรัฐบาลก็คือการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งรัฐบาลได้วางรากฐานไว้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ