พลิกโฉมที่อยู่อาศัย สู้ไฟแพง เทรนด์ใหม่ตั้งโซลาร์รูฟท็อป
Loading

พลิกโฉมที่อยู่อาศัย สู้ไฟแพง เทรนด์ใหม่ตั้งโซลาร์รูฟท็อป

วันที่ : 2 สิงหาคม 2565
นวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อปต่างประเทศมีการตื่นตัวมากพอสมควร เพราะเป็นพลังงานสะอาดช่วยขับเคลื่อนแผนลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี แต่หลายประเทศกลับไม่โชคดีเหมือนไทยเพราะแสงแดดไม่แรงพอ
           สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อระดับราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดโลกพาเหรดกันขึ้นราคา ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ยิ่งกดดันให้ไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันดิบและแอลเอ็นจี ต้องควักเงินจ่ายเพิ่มขึ้น

          ต้นทุนเหล่านี้สะท้อนกลับมายังค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่เรียกเก็บในบิลค่าไฟของประชาชน ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเพิ่มค่าเอฟทีอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ในงวดเดือนกันยายนธันวาคม 2565 ทำให้ค่าเอฟทีอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้างวดใหม่อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

          ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งแบกรับภาระค่าเอฟที แทนประชาชนไว้ก่อนหน้านี้ไม่ให้ขึ้นสูงเกินไป ต้องควักเงินดูแลเฉียดแสนล้านบาท

          เมื่อค่าไฟฟ้าแพง ประกอบกับแนวโน้มโลกให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจของไทยต้องแสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ มารับมือ ทั้งลดค่าใช้จ่ายและแสวงหาพลังงานสะอาดควบคู่กันไป เพื่อรับกติกาของโลกที่อาจกระทบธุรกิจในอนาคต

          ธุรกิจหนึ่งที่เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นั่นคือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหลายรายหันมาติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์รูฟท็อป) ให้กับโครงการหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม พร้อมเสิร์ฟให้ผู้บริโภคทันที ใครไม่ทำถือว่าตกเทรนด์

          หนึ่งในนั้นคือ "บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA" ที่มี ดร.ยุ้ย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ เริ่มต้นพัฒนาหมู่บ้านโซลาร์รูฟท็อปเมื่อกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้พัฒนาบ้านโซลาร์แล้ว 47 โครงการ แบ่งเป็นแนวสูง 22 โครงการ และแนวราบ 25 โครงการ รวมกว่า 700 หลังคาเรือน คิดเป็นการผลิตไฟกว่า 2,000 กิโลวัตต์ เป็นผู้นำตลาดโซลาร์อย่างเต็มรูปแบบและเป็นเจ้าแรกของไทย

          ล่าสุด "เสนา" จับมือ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) นำอุปกรณ์ เข้ามาใช้ในโครงการบ้าน อาทิ SMART PV INVERTER ซึ่งเป็นอุปกรณ์ แปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสไฟฟ้าสลับมีโซลูชั่นอินเวอร์เตอร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมทั้งยังมี PID Recovery เป็นตัวช่วย ฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพและลดการเสื่อมสภาพของแผงโซลาร์เซลล์ อีกทั้ง นำฟังก์ ชั่น AFCI ป้องกันการเกิดไฟไหม้ ด้วยการตัดวงจรแบบอัตโนมัติมาใช้

          ผศ.ดร.เกษราแจกแจงว่า "เสนา" นำหลักการ Environment, Social, Governance หรือ ESG เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริการที่ควบคู่กับการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานมาใช้ในโครงการหมู่บ้านต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ลอยน้ำในแหล่งน้ำของโครงการ การให้บริการชาร์จไฟฟ้า เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

          ความสำเร็จของ "เสนา" ไม่เพียงทำให้ลูกบ้านประหยัดค่าไฟ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาดที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน แต่ยังสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย หรือ "โซลาร์ภาคประชาชน" ในรอบแรกที่รัฐรับซื้ออัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย ต่อมาปรับอัตราซื้อไฟเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย โดยปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีลูกบ้านของ "เสนา" เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 295 ราย คิดเป็น 891.67 กิโลวัตต์ และจะยื่นเพิ่มเติมอีกในปีนี้

          อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ปรับตัวสูงขึ้นมากจากที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 25 เซนต์ต่อวัตต์ ล่าสุดขยับไปที่ 30 เซนต์ต่อวัตต์ เนื่องจากความต้องการทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่จีนในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลดการผลิตลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์จากกระบวนการผลิต ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง ทำให้การนำเข้าแผงโซลาร์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นทำให้การผ่อนค่าติดตั้งโซลาร์ ผ่านไฟแนนซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

          แม้ภาครัฐจะเพิ่มอัตรารับซื้อไฟจากโซลาร์ภาคประชาชนที่ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ต้นทุนที่สูงขึ้น อาจไม่จูงใจให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นมากนัก ดังนั้น ค่าไฟเฉลี่ยปัจจุบันประชาชนจ่ายกว่า 4 บาทต่อหน่วย ถ้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เองเท่ากับว่าประหยัดค่าไฟฟ้าไป 4 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อมีไฟฟ้าเหลือขายเข้าระบบ รัฐก็ควรจ่ายเงินคืน 4 บาทต่อหน่วยด้วยเช่นกัน

          "นวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อปต่างประเทศมีการตื่นตัวมากพอสมควร เพราะเป็นพลังงานสะอาดช่วยขับเคลื่อนแผนลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี แต่หลายประเทศกลับไม่โชคดีเหมือนไทยเพราะแสงแดดไม่แรงพอ ที่น่าจับตาคือ นวัตกรรมแบตเตอรี่ ที่กำลังเป็นความหวังให้โซลาร์รูฟท็อปกลายเป็นพลังงานที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะจะช่วยกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ณ วันนี้แบตเตอรี่เริ่มมีแล้ว แต่ยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องราคา หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่านวัตกรรมแบตเตอรี่ราคาต่ำ ประสิทธิภาพสูงจะมาในไม่ช้านี้ นี่จะเป็นอีกก้าวของการปฏิวัติวงการบ้านโซลาร์รูฟท็อป อีกระลอกหนึ่งอย่างแน่นอน" ผศ.ดร.เกษราสรุปส่งท้าย

          ขณะที่ อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ผยว่า บริษัทรับมือวิกฤตต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น จากราคาพลังงานและค่าไฟฟ้า โดยปรับดีไซน์รูปแบบบ้านให้ขนาดเล็กลง แต่ยังคงฟังก์ชั่นภายในบ้านให้ใกล้เคียงของเดิม รวมถึงใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยทำให้ลดความร้อน และทำให้บ้านเย็นลง เช่น ติดกระจกกันความร้อนหรือตัดแสงเข้าบ้าน ใช้สีทาภายนอกที่ลดความร้อนเข้าสู่ผนัง และใช้ระบบพรีคาสต์ เพื่อประหยัดต้นทุนและทำให้ราคาบ้านอยู่ในวงเงินที่ลูกค้าสามารถซื้อได้

          นอกจากนี้ บริษัทยังนำโซลาร์รูฟขนาด 1.5 kWp ที่ซื้อจากบริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด ติดตั้งในโครงการบ้านเดี่ยวของแสนสิริ และพื้นที่ส่วนกลางของโครงการคอนโดมิเนียม เพื่อช่วยลูกค้าประหยัดค่าไฟฟ้า หลังจากเมื่อปี 2564 ติดตั้งในบ้านเศรษฐสิริ พระราม 5 เป็นโครงการนำร่องแล้ว ตั้งเป้าปี 2565 จะติดตั้งในบ้านเดี่ยวทุกหลัง ทุกโครงการ รวม 1,825 หลัง ราคาเริ่มต้น 5 ล้านบาทขึ้นไป อาทิ สราญสิริ อณาสิริ คณาสิริ บุราสิริ เดมี่ บูก้าน นาราสิริ เป็นต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท โดยจะทยอยติดตั้งในครึ่งปีหลังนี้เป็นต้นไปจนครบทุกหลัง

          ส่วนปี 2566 คาดว่าจะติดตั้งเพิ่มขึ้นตามจำนวนบ้านเดี่ยวที่จะพัฒนามากขึ้น อีกทั้งกำลังพิจารณาว่าจะขยายการติดตั้งไปยังโครงการทาวน์เฮาส์ได้หรือไม่ เนื่องจากการติดตั้งต้องใช้พื้นที่บนหลังคาพอสมควร

          "ปัจจุบันมีดีเวลลอปเปอร์หลายราย นำโซลาร์รูฟติดให้กับลูกบ้าน เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ซึ่งแสนสิริจะติดที่หลังคาบ้านทุกหลัง โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก เราเห็นกระแสเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ประกอบกับช่วงนี้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสทำให้เราเดินหน้าเต็มที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายการติดตั้งอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อหลัง เราบวกรวมกับราคาบ้านอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกค้าจะเพิ่มขนาดมากขึ้น ก็แจ้งเพิ่มเติมได้ และการติดโซลาร์รูฟสามารถช่วยลูกบ้านประหยัดค่าใช้จ่ายได้ระยะยาว เพราะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 20 ปี" นายอุทัยสรุป