ราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ พุ่ง พื้นที่อีอีซีหนักสุดเพิ่ม20-30%
Loading

ราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ พุ่ง พื้นที่อีอีซีหนักสุดเพิ่ม20-30%

วันที่ : 29 กันยายน 2565
หลังมีการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่แล้วหากต่อไปพบว่า ราคาตลาดมีการปรับสูงขึ้นกว่าราคาประเมินเกิน 15% คณะกรรมการประจำจังหวัดก็มีอำนาจที่จะปรับประเมินราคาใหม่ได้
          ถึงเวลาที่เหมาะสม หลังศก. เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

          "กรมธนารักษ์" พร้อมประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี66-69 เริ่ม 1 ม.ค.66 ราคาเฉลี่ยพุ่ง 8% พื้นที่อีอีซี ขึ้น20-30%ยอมรับกระทบภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยันถึงเวลาที่เหมาะสม  หลังเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

          นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ยืนยันว่า จะมีการประกาศใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่ ของปี 2566-2569 เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2566 เพราะประเมินว่าขณะนี้อยู่ในช่วง สถานการณ์ที่เหมาะสมดีแล้ว โดยเศรษฐกิจกำลังมีฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดก็คลี่คลาย มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ จึงไม่จำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีก

          สำหรับโดยภาพรวมราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ ปีหน้าจะมีมูลค่าปรับขึ้นเฉลี่ย 7-8%  ซึ่งราคาประเมินสูงสุดยังเป็นพื้นที่ทำเลใจกลางเมืองกรุงเทพฯ

          "ปกติบัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบใหม่ จะมีการประกาศทบทวนใหม่ทุกๆ 4 ปี แต่ราคา ประเมินที่ใช้ในปีหน้า จะเป็นราคาที่ประเมินไว้ตั้งแต่ 2 ปีก่อน เพราะปีที่แล้ว มีการเลื่อนใช้จากโควิด จึงไม่ได้มีการทบทวนใหม่ "

          อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้หากพื้นที่มีการพัฒนาไปมาก และราคาประเมินที่ใช้อยู่ไม่เหมาะสม คณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินประจำจังหวัด ก็มีอำนาจพิจารณาทบทวนหรือ ปรับเพิ่มราคาประเมินเป็นรายแปลง ได้เอง โดยอิงจากสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนไป เช่น หากมีสะพาน หรือ ถนนใหม่ตัดผ่าน รวมถึงมีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า ทางด่วนขึ้นมา แต่ละจังหวัดก็มีอำนาจปรับราคาประเมินใหม่ได้ตลอดเวลา

          นายประภาศ กล่าวว่า หากมีการปรับใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ในปีหน้าอาจจะส่งผลให้ประชาชน ที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะการ เก็บภาษีที่ดินจะใช้ราคาประเมิน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของกรมธนารักษ์มาเป็นฐานประเมินในการคำนวณ ภาษี ส่วนจะมีมาตรการบรรเทา ภาระผู้เสียหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกรมธนารักษ์มีการประเมินราคาที่ดิน แบ่งทั้งหมดเป็น 33 ล้านแปลง โดยภาพรวมทั่วประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8.9% โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ปรับขึ้นประมาณ 3% และต่างจังหวัดประมาณ 8% ส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงอยู่ทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

          สำหรับราคาประเมินที่ดินสูงสุด ยังอยู่ในกรุงเทพฯ 1 ล้านบาทต่อตารางวา อยู่บริเวณถนนสีลม เพลินจิต วิทยุ พระรามที่ 1 รองลงมาถนนสุขุมวิท 7.5 แสนบาท ถนนรัชดาภิเษก 4.5 แสนบาท ถนนเพชรบุรี 3 แสนบาท ถนนพหลโยธิน 2.5 แสนบาท

          ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีราคาสูงสุดอยู่ใน 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยองมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20- 30% โดยราคาที่ขึ้นสูงสุดอยู่บริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟความเร็วสูง เช่น จ.ชลบุรี ปรับขึ้น 42.83% ราคาสูงสุดอยู่ถนนเลียบหาดพัทยา อ.บางละมุง 2.2 แสนบาท

          "หลังมีการประกาศใช้ราคา ประเมินที่ดินใหม่แล้วหากต่อไปพบว่า ราคาตลาดมีการปรับสูงขึ้นกว่าราคา ประเมินเกิน 15% คณะกรรมการประจำจังหวัดก็มีอำนาจที่จะปรับประเมิน ราคาใหม่ได้"
ข่าวกฎหมายอสังหาฯ อื่นๆ