อัพเดตตลาดบ้าน-คอนโดโซน EEC สต๊อกค้างรอระบาย 1-4 ปี ตลาดเช่ามาแรง
Loading

อัพเดตตลาดบ้าน-คอนโดโซน EEC สต๊อกค้างรอระบาย 1-4 ปี ตลาดเช่ามาแรง

วันที่ : 11 เมษายน 2566
LWS เผยว่า จากผลการสำรวจพบว่าความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในทำเล EEC มีสัดส่วนที่สูง โดยอัตราการเช่าอพาร์ตเมนต์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีสัดส่วนเฉลี่ย 80-90% สะท้อนถึงความต้องการที่พักอาศัยในทำเลนี้ได้เป็นอย่างดี มองว่าเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อเพื่อการลงทุนและปล่อยเช่า
          ไตรมาส 1/66 ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับการเปิดตัวเลขาธิการ EEC คนใหม่ "จุฬา สุขมานพ" จึงเป็นโอกาสที่จะ round up ตลาดที่อยู่อาศัยโซนอีอีซีกันอีกสักรอบ

          ล่าสุด "ลุมพินี วิสดอม" สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC-Eastern Economic Corridor) ประกอบด้วย 3 จังหวัดคือ ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา

          ระบุตลาดที่อยู่อาศัยทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย มีสินค้าคงเหลือ 9,495 หน่วย มูลค่ารวมแตะ 35,000 ล้านบาท ใช้เวลาในการขาย 1-4 ปี (กรณีไม่มีสินค้าใหม่เปิดตัวเพิ่มขึ้นมา)

          เมกะโปรเจ็กต์รัฐหนุนเติบโต

          ผู้บริหาร "ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ ไชยวรรณ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด รหัสย่อ 2 ตัวคือ LWS หรือ LPN Wisdom ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ LPN (บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าเมกะโปรเจ็กต์จะพลิกโฉมหน้าโซน EEC โดยสิ้นเชิง

          ประกอบด้วย 3 โหมดหลัก คือ

          1.รถไฟฟ้าสามสนามบิน ตามแผนคาดว่าจะมีจำนวน 9 สถานี ใช้เวลาในการเดินทาง 101 นาที จากเส้นทางดอนเมือง-อู่ตะเภา ประเมินมีผู้โดยสาร/วัน จาก 147,200 คนในปีปัจจุบัน เพิ่มเป็น 307,810 คน/วัน ในปีเปิดบริการ หรือภายใน 50 ปีของการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ (2566-2616)

          2.รถไฟทางคู่ภาคตะวันออก ตามแผนมีจำนวน 34 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง 12 นาที เส้นทางบ้านฉาง-ตราด ผู้โดยสารคาดว่าจาก 24,430 คน/วัน เพิ่มเป็น 63,272 คน/วัน หรือใช้เวลา 30 ปี (2574-2604)

          และ 3.รถไฟทางคู่ ศรีราชา-มาบตาพุด ตามแผนมีจำนวน 18 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง คาดว่าผู้โดยสารเพิ่มจาก 6,301 คน/วัน ในปีเปิดบริการ เพิ่มเป็น 16,164 คน/วัน (2574-2598) หรือภายใน 24 ปี

          คอนโดฯ ต่ำ 2 ล้านรอขายมากสุด

          สำหรับตลาดอสังหาฯในพื้นที่ EEC มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวโครงการจำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2566)

          จากผลการสำรวจของฝ่ายวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ของ LWS เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวโครงการและอยู่ระหว่างการขายในพื้นที่ "บางปะกง" จังหวัดฉะเชิงเทรา "อมตะซิตี้ ชลบุรี" อำเภอเมืองชลบุรี และอำเภอศรีราชาแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี  ทั้งสิ้น 9,495 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 35,000 ล้านบาท

          ในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมจำนวน 3,661 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 36% ของจำนวนโครงการที่เปิดตัวทั้งหมด 21 โครงการ รวม 10,094 หน่วย ซึ่งเป็นการเปิดตัวโครงการตั้งแต่ปี 2561-2566

          โดยพื้นที่ที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุด คือ "บางปะกง" จำนวน 1,671 หน่วย อาคารชุดที่เหลือขายทั้งหมดคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการขาย 1-4 ปี ขึ้นอยู่กับทำเลและระดับราคา

          โดยระดับที่ขายดีสุดคือกลุ่มราคา 1-2 ล้านบาท รูปแบบห้องชุดที่ได้รับความนิยมในทำเลนี้เป็นห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 30-35 ตารางเมตร

          สต๊อกบ้านโซนอมตะซิตี้แชมป์

          ในขณะที่โครงการบ้านแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว-บ้านแฝด-ทาวน์เฮาส์ มีจำนวน 5,834 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 51% ของจำนวนบ้านแนวราบที่เปิดขายทั้งหมด 48 โครงการ จำนวน 11,366 หน่วย

          โดยมีหน่วยที่เหลือขายมากสุดในพื้นที่ "อมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี" จำนวน 1,451 หน่วย คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาในการขาย 1-4 ปี ขึ้นอยู่กับทำเลและระดับราคา

          โดยระดับที่ขายดีที่สุดเป็นกลุ่มราคา 2-5 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นทาวน์เฮาส์กับบ้านเดี่ยว

          กำลังซื้อ EEC 2-5 หมื่น/คน

          ด้านกำลังซื้อในโซน EEC ผลการสำรวจพบว่าเป็นกลุ่มผู้ซื้อทั้งกลุ่มนักลงทุนและพนักงานทำงานอยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรม ที่มีระดับรายได้เฉลี่ย 20,000-50,000 บาทต่อเดือน

          ในขณะที่การซื้อเพื่อการลงทุนปล่อยเช่า มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 5-6% โดยมีราคาค่าเช่าเฉลี่ย 3,500-9,000 บาทต่อหน่วย สำหรับห้องชุดพื้นที่ใช้สอย 26-30 ตารางเมตร

          "จากผลการสำรวจพบว่าความต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าในทำเล EEC มีสัดส่วนที่สูง โดยอัตราการเช่าอพาร์ตเมนต์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีสัดส่วนเฉลี่ย 80-90% สะท้อนถึงความต้องการที่พักอาศัยในทำเลนี้ได้เป็นอย่างดี มองว่าเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อเพื่อการลงทุนและปล่อยเช่า" นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

          ออริจิ้นอีอีซีบุกเพิ่ม 3,300 ล้าน

          บิ๊กแบรนด์ทุนเมืองกรุง "ภูมิพัฒน์ ฤทธิธาดา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น อีอีซี จำกัด ในเครือบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI เปิดเผยว่า EEC เป็นพื้นที่ศักยภาพสูง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมี 8 บริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุน EV Car เม็ดเงินลงทุน 40,000 ล้านบาทต่อปี การฟ้นตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์ โควิด ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของคนทำงานในพื้นที่สูงขึ้นอย่างมาก

          โมเดลธุรกิจ Origin Infinity-แผนสร้างการเติบโตและการดูแลผู้บริโภคไม่สิ้นสุด โดยเครือออริจิ้นถือเป็นเจ้าตลาดที่เข้าไปบุกเบิกพัฒนาโครงการมาหลายปีในโซน EEC

          ทั้งนี้ ปี 2566 วางแผนเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งบ้านและคอนโดฯ มูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของแผนลงทุนใหม่ในเครือออริจิ้นที่ประกาศแผนจำนวน 50,000 ล้านบาท

          โดย "ออริจิ้น อีอีซี" พัฒนาคอนโดฯ 3,300 ล้านบาท ผ่าน 2 แบรนด์หลัก ได้แก่ "ดิ ออริจิ้น-The Origin" เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z และ First Jobber กับแบรนด์ "ไนท์บริดจ์-Knightsbridge" ที่เป็นแบรนด์ไฮเอนด์

          โมเดลการลงทุนพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส อาทิ โรงแรม คอมมิวนิตี้มอลล์ ในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ-Smart City ต่อยอดความสำเร็จของบริษัทจากการพัฒนาออริจิ้น สมาร์ท ซิตี้ ระยอง และออริจิ้น สมาร์ท ซิตี้ แหลมฉบัง-ศรีราชา ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้

          ล่าสุด Smart City แห่งใหม่ที่น่าจะได้เริ่มพัฒนาในปี 2566 แบรนด์ "ออริจิ้น สมาร์ท ซิตี้ พัทยา-Origin Smart City Pattaya"

          "เราไม่ได้แค่เข้าไปสร้างที่อยู่อาศัย แต่กลยุทธ์เข้าไปสร้างเมืองที่มีความเจริญและบริการครบครัน ทั้งบริการสุขภาพจากออริจิ้น เฮลท์แคร์ มีโรงแรม คอมมิวนิตี้มอลล์ จากวัน ออริจิ้น พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชนแต่ละทำเล สร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่ดีให้กับลูกค้า ดูแลการอยู่อาศัย การใช้ชีวิตของลูกค้าแบบครบวงจร" นายภูมิพัฒน์กล่าว
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ