สศช.ย้ำต้องเคร่งครัดวินัยเงิน-คลัง
Loading

สศช.ย้ำต้องเคร่งครัดวินัยเงิน-คลัง

วันที่ : 17 พฤษภาคม 2566
สศช. เผยว่า การขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยว การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคในประเทศและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ
          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกปี 2566 ว่าขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจาก 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2566 ขยายตัว 1.9% จากไตรมาส 4/2565 ขณะที่ยังคงคาดการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีไว้เท่าเดิมที่ 2.7-3.7% โดยมีค่ากลางที่ 3.2%

          "การขยายตัวของจีดีพีไตรมาส 1/2566 มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยว การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคในประเทศและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจในระดับสูงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอาจกระทบต่อภาคเกษตร บรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง และความล่าช้าของการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2567"

          สำหรับการเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลที่จะนำไปสู่การรื้อการจัดงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่รัฐบาลปัจจุบันทำไว้นั้น รัฐบาลใหม่สามารถทำได้หลายแบบ มี 2 วิธี คือ วิธีแรกเป็นการปรับเล็กไส้ในของงบประมาณที่มีการจัดทำไว้เบื้องต้นวิธีที่สองจัดทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องมาดูการประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น และประมาณการเศรษฐกิจในระยะถัดไป ซึ่งคงจะไม่หนีจากที่ทำไว้ คงไม่เปลี่ยนมากนักเพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่จะเลือกวิธีไหนสามารถทำให้สอดรับกับนโยบายที่ประกาศไว้ได้หมด เพราะเป็นฝ่ายบริหาร แต่สิ่งสำคัญต้องพิจารณาวินัยการเงิน-การคลังอย่างเคร่งครัดควบคู่ไป เพราะจะเป็นตัวสำคัญที่ต่างประเทศจะประเมินเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นช่วงถัดไป

          เลขาธิการ สศช.ยังได้ตอบคำถามว่า สศช.พร้อมปรับตัวเพื่อรองรับการบริหารของรัฐบาลขั้วใหม่หรือไม่ว่า ในฐานะข้าราชการไม่ว่าขั้วไหนมาก็ต้องทำงานอยู่ดี ส่วนยุทธศาสตร์ 20 ปีจะถูกรื้อหรือไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารแต่หากไม่มียุทธศาสตร์ชาติจะเดินหน้าประเทศอย่างไร ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลมีนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องใช้งบปีละ 650,000 ล้านบาทนั้น การทำรัฐสวัสดิการต้องชัดเจนว่ากลุ่มไหนขณะนี้ด้านสาธารณสุขมีประกันสังคม มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งพัฒนาไปไกลแล้ว ส่วนข้าราชการมีระบบดูแล จึงต้องไปดูว่าสวัสดิการที่คนหนึ่งคนได้รับมีอะไรบ้างและเหมาะสมกับสถานะเศรษฐกิจของคนคนนั้นไหม และหากเป็นรัฐสวัสดิการต้องยอมรับว่าทุกคนต้องจ่ายภาษีตอนนี้ทุกนโยบายพูดเรื่องรายจ่ายแต่ไม่พูดว่ารายได้มาจากไหน ส่วนที่จะปรับการจัดเก็บภาษีคนรวย ก็ต้องเป็นธรรมกับทุกกลุ่มด้วย