ธปท.จ่อหั่นจีดีพีชี้ส่งออกวูบ
Loading

ธปท.จ่อหั่นจีดีพีชี้ส่งออกวูบ

วันที่ : 3 สิงหาคม 2566
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ประเมินว่าเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน
          เอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย0.25%

          นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ธปท.มีโอกาสปรับประมาณการเศรษฐกิจ หรือจีดีพีปี 66 ใหม่ จากปัจจุบันที่คาดไว้ 3.6% หลังจากการส่งออกชะลอกว่าที่คาด แต่ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจริงในไตรมาส 2 ปี 66 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะประกาศในเดือนส.ค.นี้ รวมถึงประเด็นทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลและแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่

          ทั้งนี้ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ได้กระทบกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ให้มีผลบังคับใช้ล่าช้าออกไป 2 ไตรมาส (ตั้งแต่เดือน ต.ค. 66-มี.ค. 67) หรืออาจออกใช้ในไตรมาส 2 ของปีปฏิทิน (เริ่มเดือน เม.ย. 67) ซึ่งจะไม่ได้กระทบงบเบิกจ่ายประจำมาก แต่จะกระทบกับการลงทุนภาครัฐ เกิดการชะลอโครงการใหม่ออกไป แม้สัดส่วนจีดีพีไม่ได้มาก น้ำหนักที่กระทบมากคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลงทุนของเอกชน ทั้งบริษัทในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศซึ่งจะเป็นตัวแปรที่จะกระทบกับเศรษฐกิจมากกว่า ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง เพราะงบประมาณ ปี 67 ทางสำนักงบประมาณแจ้งว่าต้องยื่นคำขอไปใหม่

          สำหรับการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 2 ส.ค.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ประเมินว่าเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง โดยดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% เป็นระดับที่เคยขึ้นมาแล้วเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 57 ซึ่งการปรับขึ้น 0.25% กลับไปสู่ 2.25% นับเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 9 ปี

          กนง.เริ่มถอนคันเร่ง หรือขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่ ส.ค. 65 และกำลังเข้าใกล้จุดถอนคันเร่งเกือบหมดมากขึ้น สอดคล้องเศรษฐกิจกำลังฟื้นเข้าสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบ ดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดที่ควรจะเป็น แต่คำนึงถึงปัจจัยอื่นมากขึ้น เช่น การก่อหนี้มากน้อยแค่ไหน โดยมีความไม่แน่นอนระยะสั้นอยู่ การประชุมครั้งต่อไปจะตัดสินอย่างไร ก็ต้องดูความชัดเจนขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ

          "เดินมาสักระยะหนึ่งเข้าใกล้โซนดอกเบี้ยที่เป็นกลางเป็นไปตามศักยภาพของเศรษฐกิจ โดยต้องคำนึงปัจจัยระยะยาว อาศัยข้อมูลระหว่างนี้ ข้อมูลเสริมแนวโน้มอย่างไร การที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงใกล้โซนบวกบางจุด เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาเท่านั้น ต้องให้แน่ใจภาวะการเงินสอดคล้องเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ดูข้อมูลว่าต้องปรับอะไรเพิ่มหรือไม่ ซึ่งดอกเบี้ยกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนแล้ว"