จีนครองแชมป์คอนโดฯไทย
Loading

จีนครองแชมป์คอนโดฯไทย

วันที่ : 22 กันยายน 2566
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า จากการประมวลภาพของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั้งหมด ทำให้เราเห็นได้ว่า ปริมาณทั้งในมิติของจำนวนหน่วย มูลค่า และพื้นที่ ฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงที่ก่อนโควิด
          นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรก ปี 66 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่ามีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติรวม 7,338 หน่วย มูลค่า 35,211 ล้านบาท

          "สาเหตุมาจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่ปี 65 ที่ผ่านมา ที่ส่งผลให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาซื้อขายก่อนหน้าสามารถกลับมารับโอนกรรมสิทธิ์ได้เพิ่มขึ้น และยังมีชาวต่างชาติอีกส่วนหนึ่งที่ซื้อห้องชุดที่สร้างเสร็จจากผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเช่นกัน"

          สำหรับ 5 อันดับ การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน เป็นมูลค่าสูงสุด จำนวน 16,992 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 48.3% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วน 4 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนรองลงมาคือ รัสเซีย 2,556 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.3% ถัดมา คือสหรัฐอเมริกา 1,289 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.7% สหราชอาณาจักร 1,287 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.7% และเมียนมา 1,274 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.6%

          นายวิชัย กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 66 (ม.ค. มิ.ย.) คนต่างชาติได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในชลบุรีมาเป็นอันดับ 1 ที่มีสัดส่วน 43.4% ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 37.7% ซึ่งแตกต่างจากช่วงปี 61-65 ที่กรุงเทพฯ มียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่ภูเก็ต มีสัดส่วนเป็นอันดับที่ 3 ที่ 6.3% โดยผู้ซื้อสัญชาติจีนยังคงเป็นกลุ่มที่มีหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 47% และ 48.3% ตามลำดับ ส่วนอันดับ 2 เป็นสัญชาติรัสเซีย มีสัดส่วน 9.6% และ 7.3% นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสน ใจว่า ในไตรมาสนี้สัญชาติเมียนมามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 7 ล้านบาท ในขณะที่สัญชาติอินเดียมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดขนาดเฉลี่ยใหญ่สุดอยู่ที่  89.8 ตารางเมตร

          "จากการประมวลภาพของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั้งหมด ทำให้เราเห็นได้ว่า ปริมาณทั้งในมิติของจำนวนหน่วย มูลค่า และพื้นที่ ฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงที่ก่อนโควิด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนการซื้อขายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า การซื้อขายห้องชุดที่ผ่านมาเป็นการขายได้จริง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากภาวะการโอนกรรมสิทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ