รัฐอัดฉีดโปรเจ็กต์ดันราคาวัสดุ
Loading

รัฐอัดฉีดโปรเจ็กต์ดันราคาวัสดุ

วันที่ : 6 พฤษภาคม 2568
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐส่งผลให้ก่อสร้างภาครัฐขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ขยายมาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เป็นต้น ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ภาคอสังหาฯฟ้นตัว รวมทั้งความต้องการใช้เหล็กได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
   นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 113.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2567 สูงขึ้น 0.8% สาเหตุจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการใช้ในการซ่อมแซมอาคารและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยกดดันคือ การชะลอตัวของ ภาคอสังหาฯที่เข้มงวดอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงหนี้ครัวเรือนทรงตัวสูง

   นายพูนพงษ์กล่าวว่า หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้น 0.9% จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้แบบ วงกบประตู และวงกบหน้าต่าง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 4.1% จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้น 1.1% จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และคอนกรีตผสมเสร็จ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลง 2.6% จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กตัว H และท่อเหล็กดำ หมวดกระเบื้อง ลดลง 1.2% จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องเคลือบบุผนัง และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้น 0.2% จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และน้ำมันเคลือบแข็งภายในและภายนอก หมวดสุขภัณฑ์ ลดลง 1.7% จากการลดลงของโถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับสแตนเลส หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น2.1% จากการสูงขึ้นของสายไฟฟ้า VCT สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY เครื่องตัดไฟอัตโนมัติ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้น 5.9% จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และวัสดุธรรมชาติ (หิน ดิน ทราย)

    นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มสูงขึ้น ปัจจัยจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐส่งผลให้ก่อสร้างภาครัฐขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ขยายมาตรการลดค่าโอนและจดจำนอง เหลือ 0.01% ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV เป็นต้น ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ภาคอสังหาฯฟ้นตัว รวมทั้งความต้องการใช้เหล็กได้มาตรฐานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ